ภาวะการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการปรับตัวของสินค้าคงคลัง (Restocking) การปรับตัวของผู้ส่งออกในการกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นๆ นอกเหนือไปจากตลาดดั้งเดิม อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป ที่หดตัวค่อนข้างมาก และการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศบางประเทศ เช่น จีน อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยกระเตื้องขึ้น และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจุดต่ำสุดของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยน่าที่จะผ่านพ้นไปแล้ว โดยในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มที่จะติดลบลดลง และกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผลของฐาน (มูลค่าการส่งออกช่วงปลายปี 2551 ที่อยู่ในระดับต่ำ) และโดยรวมทั้งปี 2552 คาดว่าตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะอยู่ที่ 27,992-26,437 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 15
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงต่อไปยังมีความเสี่ยงเนื่องจากคำสั่งซื้อที่เกิดจากการสต็อกสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ในระยะสั้น ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอุดหนุนการซื้อสินค้าที่หลายประเทศนำมาใช้ก็เป็นมาตรการชั่วคราวและแม้ว่าจะมีผลดีต่อบริษัทผู้ผลิตและผู้ส่งออก แต่ผลของมาตรการอาจมีจำกัดโดยอาจไม่สามารถชดเชยการหดตัวของตลาดโลกโดยรวมได้หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว
นอกจากนี้แนวโน้มการปรับโครงสร้างของบริษัทข้ามชาติยังหมายความว่าจำนวนซัพพลายเออร์ในต่างประเทศจะถูกลดจำนวนลงและมีแรงกดดันด้านราคาเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต/ส่งออกชิ้นส่วนในไทยที่เป็นเอสเอ็มอีลำบากโดยเฉพาะในระยะข้างหน้าที่ต้นทุน (ราคาสินค้าโภคภัณฑ์) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น สำหรับผู้ส่งออกจึงควรที่จะเพิ่มความระมัดระวังในการวางแผนการตลาดเริ่มตั้งแต่การจัดซื้อ การปรับปรุงการผลิตและการจัดการระบบโลจิสติกส์และการส่งมอบ (Delivery) ให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป และติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศเพื่อดูประเมินทิศทางและแนวโน้มของตลาดได้ดียิ่งขึ้น หาโอกาสในตลาดใหม่ๆ อาทิ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างประเทศ ตลาดต่างประเทศอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้ และตลาดในประเทศ เพื่อรักษายอดขาย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น