จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่เผชิญกับยอดขายที่ตกต่ำอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐฯนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ของสหรัฐฯที่ประสบปัญหาหนักจนทำให้บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน 2 ราย ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 ตามกฏหมายสหรัฐฯในที่สุด ถึงกระนั้นก็ยังมีการยืนยันจากผู้บริหารบริษัทฯที่จะรักษาฐานการผลิตในไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศและศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีความเห็นว่าในอนาคตสถานะการเป็นผู้รับการลงทุนที่น่าสนใจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์จากต่างประเทศของไทยยังมีโอกาสที่จะสั่นคลอนได้โดยเฉพาะในภาวะที่การแข่งขันเพื่อแย่งชิงการลงทุนจากต่างประเทศในภูมิภาคได้เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องมีแนวทางในการเสริมสร้างความน่าดึงดูดและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในการเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคได้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้จากข้อมูลการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่นในภูมิภาคของเอเชีย พบว่า การลงทุนในไทยลดลงร้อยละ 38.5 ในปี 2551 ขณะที่การลงทุนในจีน อินเดีย เวียดนาม เพิ่มขึ้น และคาดว่าการลงทุนจะลดลงต่อเนื่องในปี 2552 ซึ่งถ้าพิจารณาตัวเลขมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 พบว่าลดลงจากปีก่อนถึงประมาณร้อยละ 44.8 และจากสภาวะการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและหาแนวทางเสริมสร้างความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตให้กับประเทศเพื่อนบ้านไป
ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นจะต้องเร่งทำ คือ การพยายามเสริมจุดแข็งของไทยในด้านต่างๆทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร และศักยภาพของอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสำหรับการผลิตรถยนต์อนาคตที่มีมาตรฐานสูงและเน้นการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทางเลือกเป็นหลัก เพื่อชดเชยกับค่าจ้างแรงงานและต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆที่อาจจะสูงกว่า รวมถึงรักษาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ขณะเดียวกันก็ต้องลบจุดอ่อนต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองในแต่ละครั้งได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนลงไปเรื่อยๆ รวมไปถึงการสร้างความชัดเจนในการดำเนินนโยบายร่วมกันในระยะยาวระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และทิศทางการพัฒนาพลังงาน
นอกจากนี้ก็ควรหาโอกาสให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็น การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆที่เอื้อให้เกิดความน่าสนใจในการลงทุน อำนวยความสะดวกในการดำเนินการลงทุนผลิตของภาคธุรกิจ และร่วมกันหาตลาดศักยภาพใหม่ๆพร้อมทั้งการสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าเสรีในประเทศที่ไทยมีศักยภาพการแข่งขัน เป็นต้น
คาดว่าจะช่วยทำให้การมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยแม้จะหดตัวลงไปบ้างอย่างในภาวะปัจจุบัน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยแต่ก็จะยังคงมีความน่าสนใจต่อเนื่อง และนอกเหนือจากการเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนข้างต้นแล้วประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกประการที่รัฐไม่ควรมองข้าม คือ การที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในส่วนที่ช่วยได้ เพื่อให้กิจการของบริษัทนักลงทุนสามารถฝ่าวิกฤตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในอนาคต เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาวสำหรับนักลงทุนในการเป็นประเทศเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนต่อเนื่องไปในอนาคต
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น