Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มิถุนายน 2552

เกษตรกรรม

สมุนไพรไทยต้านไวรัส : เร่งวิจัยและพัฒนา…เพื่อสร้างโอกาสและขยายตลาดส่งออก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2536)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบันนอกจากจะมีการคิดค้นวัคซีนและยาปฏิชีวนะที่ช่วยป้องกัน และรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว การหันมาพึ่งพิงการแพทย์ทางเลือก โดยเฉพาะการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้านไวรัส ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ มีสมุนไพรไทยหลากหลายชนิดที่มีสรรพคุณต้านไวรัส เช่น ฟ้าทะลายโจร พลูคาว แมงลักคา และมะระขี้นก ซึ่งการใช้สมุนไพรไทยต้านไวรัสสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

การใช้ในมนุษย์ การแพทย์ทางเลือก หรือการรักษาเชิงป้องกัน โดยใช้สมุนไพรไทยกลุ่มที่มีสรรพคุณต้านไวรัสมีความนิยมมากขึ้นทั้งในกลุ่มผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากกระแสความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภค ประกอบกับปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง เพื่อลดโอกาสของการเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

การใช้ในธุรกิจปศุสัตว์ ความต้องการใช้สมุนไพรไทยกลุ่มที่มีสรรพคุณต้านไวรัสผสมลงในอาหารสัตว์ถือว่ามีการขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในขณะที่ประเทศคู่ค้ามีความเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานเกี่ยวกับสุขอนามัยสูง มีกฎระเบียบเข้มงวดเรื่องสารตกค้างอันเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ประกอบการจึงต้องหาสิ่งที่สามารถนำมาทดแทนสารปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาโรค เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในการเลี้ยง ดังนั้น ในปัจจุบันผู้ผลิตได้หันมาใช้สมุนไพรมากขึ้น เนื่องจากสรรพคุณของสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรไทย

สำหรับแนวโน้มความต้องการสมุนไพรไทยต้านไวรัส การวิจัยและพัฒนาถือเป็นเรื่องสำคัญ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการพัฒนากลยุทธ์ของสมุนไพรไทยในกลุ่มที่มีสรรพคุณต้านไวรัสเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะลดการนำเข้ายาปฏิชีวนะและเวชภัณฑ์สมุนไพรจากต่างประเทศ รวมทั้งสามารถพัฒนาสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลก โดยกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของการสกัดสารออกฤทธิ์ การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรต้านไวรัส การส่งเสริมการปลูกสมุนไพรต้านไวรัสเพื่อใช้ในครัวเรือน การส่งเสริมการปลูกสมุนไพรต้านไวรัสเพื่อป้อนให้แก่โรงงานแปรรูป การสร้างจุดขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยต้านไวรัสให้มีความโดดเด่น และการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สมุนไพรในอาหารสัตว์

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการก้าวไปสู่ตลาดโลกนั้น ยังมีโอกาสที่เปิดกว้างมาก แต่ผู้ประกอบการของไทยจะต้องเร่งพัฒนาตั้งแต่ การผลิต การตลาด ไปจนถึงการเรียนรู้กฎหมาย และหากได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ก็เชื่อแน่ได้ว่าโอกาสทางธุรกิจของสมุนไพรไทยกลุ่มที่มีสรรพคุณต้านไวรัสจะสามารถผงาดในเวทีการค้าโลกได้อย่างแน่นอน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม