Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กรกฎาคม 2552

เกษตรกรรม

ข้าวครึ่งหลังปี 2552 : ราคาส่งออกกำหนดทิศทางการค้าข้าวไทยในตลาดโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2552)

คะแนนเฉลี่ย

ปี 2552 นับเป็นปีแรกในรอบ 5 ปีที่การส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงตลอดทั้งปี โดยในปีที่ผ่านๆมา การแข่งขันจากคู่แข่งขันสำคัญคือ เวียดนามนั้นจะรุนแรงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปีเท่านั้น แต่ในปีนี้เวียดนามเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยทุ่มการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรก และเมื่อปริมาณการส่งออกข้าวเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วงครึ่งปีแรก ในไตรมาสที่สองเวียดนามระงับการทำสัญญาส่งออก หลังจากนั้นจึงเริ่มมาทำสัญญาส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 2552 กอปรกับการคาดหมายว่าปริมาณการผลิตข้าวของเวียดนามนั้นสูงกว่าที่คาดหมาย ทำให้ภาคเอกชนผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามเพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 6.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20.0 ของเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงต้นปี เมื่อผนวกกับราคาส่งออกข้าวที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญอย่างไทย และสหรัฐฯ ทำให้เวียดนามสามารถเบียดแย่งตลาดข้าวส่วนใหญ่ไปได้

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังปี 2552 นี้ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันกับอินเดีย ที่คาดว่าจะกลับเข้ามาเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอีกครั้ง หลังจากในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียจำกัดการส่งออกข้าว โดยเฉพาะข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติ เนื่องจากปริมาณสต็อกข้าวในประเทศเพียงพอกับการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจากมรสุมนั้นเพียงพอกับการปลูกข้าว ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวของอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งการกลับเข้าตลาดของอินเดียยิ่งจะทำให้การแข่งขันข้าวในตลาดโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 ผู้ส่งออกข้าวของไทยคงจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยราคาส่งออกข้าวจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก ปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคาข้าวของไทยนอกจากปริมาณการผลิตแล้ว นโยบายรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะราคาในการแทรกแซงตลาดข้าวไม่ว่าจะด้วยวิธีการจำนำหรือประกันราคาข้าวก็ตาม เนื่องจากเป็นการกำหนดเกณฑ์ราคาข้าวของไทย รวมทั้งนโยบายการระบายสต็อกข้าว ซึ่งส่งผลทำให้ราคาข้าวของไทยผันผวนได้ในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม