ประเทศอาเซียนต้องประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ที่ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจหดตัวในอัตราร้อยละ 10.1 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่พึ่งพาการส่งออกน้อยกว่า ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกยังคงเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 4.4 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวได้เช่นกัน แต่อัตราเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 4.4 ในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจอาเซียนที่ซบเซาลงส่งผลให้ตลาดอาเซียนที่ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย (สัดส่วนราวร้อยละ 20.5) ต้องประสบภาวะหดตัวร้อยละ 32.3 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จากช่วงเดียวกันของปี 2551 อย่างไรก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจหดตัวชะลอลงเหลือระหว่างร้อยละ 5-10 เทียบกับครึ่งแรกของปีที่ติดลบร้อยละ 32 โดยอาจสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำใน 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551
สัญญาณการเชิงบวกของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ 4 อันดับแรกของอาเซียน ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการประเทศต่างๆ ทั้งการอัดฉีดเงินงบประมาณใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของอาเซียนไปยัง 4 ตลาดนี้ปรับตัวดีขึ้น แต่ปัญหาการว่างงานของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายจ่ายของภาคครัวเรือนที่ปรับลดลง ทำให้คาดว่าภาคการบริโภคของทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นยังคงอ่อนแรงในช่วงที่เหลือของปีนี้
แม้ว่าจะเริ่มทรงตัวดีขึ้นแล้ว ส่งผลให้การส่งออกของอาเซียนไปยังตลาดเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างปกติ แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จากที่ทรุดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากเม็ดเงินอัดฉีดของทางการประเทศต่างๆ ที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้ระดับหนึ่ง ส่วนการส่งออกของอาเซียนไปจีนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศของทางการจีน ที่จะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนของจีนจากประเทศอาเซียนกระเตื้องขึ้น
การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศอาเซียนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ตามแรงขับเคลื่อนของภาค ส่งออก คาดว่าจะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยกระเตื้องขึ้นตามไปด้วย ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจอาเซียนได้มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว นำโดยเศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเป็นบวกจากไตรมาสแรก (annual rate)
ส่วนเศรษฐกิจอินโดนีเซียและเวียดนามที่ขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสแรก คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญๆ หลายรายการของไทยไปอาเซียนในไตรมาสที่ 2 ได้ปรากฏสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งคาดว่าสินค้าส่งออกของไทยไปอาเซียนเหล่านี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2552 ที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น