ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยเผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงเหลือ 561.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัวลงถึงร้อยละ 34.0 โดยมีเพียงตลาดจีนเพียงตลาดเดียวที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกยังคงเป็นบวก ความหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีนนั้นมีปัจจัยที่ต้องกังวล คือ การที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม โดยในช่วงครื่งแรกปี 2552 เวียดนามเบียดไทยขึ้นครองอันดับหนึ่งในตลาดจีน ในการส่งออกมันอัดเม็ดและมันเส้น ส่วนสตาร์ชมันสำปะหลังแม้ว่าไทยยังคงรั้งอันดับหนึ่งในตลาดจีน แต่อัตราการขยายตัวของสตาร์ชมันสำปะหลังของเวียดนามในตลาดจีนในช่วงครึ่งแรกปี 2552 นั้นก็สูงกว่าไทยมาก
แม้ว่าจีนจะยังคงมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แต่ความหวังที่จีนเลือกที่จะนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น จนกระทั่งทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 กระเตื้องขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยจะต้องสามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ หรือเวียดนามลดการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตในปี 2553 ลดลง หรือนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนั้นไปเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตเอทานอลที่กำลังจะเปิดดำเนินการ
ดังนั้น ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 จึงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินทิศทางการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กำหนดราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนั้นมีหลากหลายปัจจัย ทั้งปริมาณการผลิตมันสำปะหลังในปี 2552/53 การเทรกแซงตลาดมันสำปะหลังของรัฐบาล และการระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯคาดการณ์ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังในปี 2552/53 นั้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา นับว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนการแทรกแซงตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังนั้น รัฐบาลเปลี่ยนจากมาตรการจำนำเป็นประกันราคา ทำให้คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังปี 2552 น่าจะมีแนวโน้มต่ำลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ การตัดสินใจระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของรัฐบาล เนื่องจากเดิมนั้นเป็นการประมูลราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกของรัฐบาลของบรรดาผู้ส่งออก โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดปริมาณและราคาขั้นต่ำในการระบายสต็อกในแต่ละล็อต แต่จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 มีการอนุมัติให้เปลี่ยนจากการเปิดประมูลมาเป็นการยื่นเสนอซื้อกับคณะกรรมการระบายสินค้า ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดูแล และมีการเจรจากับผู้เสนอซื้อเป็นรายๆไป รวมทั้งยังอนุมัติให้จำหน่ายมันเส้นในประเทศ โดยจำหน่ายให้กับโรงงานเอทานอล ซึ่งทำให้คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกรัฐบาลจะไม่ต่ำมากนัก เนื่องจากในปีนี้รัฐบาลมีทางเลือกในการระบายสต็อกมากขึ้น
จากความต้องการมันเส้นและแป้งมันเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคากากน้ำตาลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้โรงงานเอทานอลที่สามารถจะใช้วัตถุดิบได้ทั้งมันเส้น/แป้งมัน และกากน้ำตาล ทั้งที่เปิดดำเนินการแล้ว และจะเปิดดำเนินการปี 2553 ต่างหันมาเพิ่มการรับซื้อมันเส้นและแป้งมัน ทำให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศในช่วงครึ่งหลังปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลต่อเนื่องให้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น รัฐบาลอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งระบายสต็อก โดยอาจจะชะลอเพื่อรอราคาที่คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าจะช่วยบรรเทาภาวะขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในการระบายสต็อก ดังนั้น การตัดสินใจในการเลือกการระบายสต็อกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังก็เป็นปัจจัยกำหนดราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เช่นกัน
นอกจาก ตลาดจีนแล้วตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่น่าจับตามอง คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ สถานะการแข่งขันของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี และไทยก็ยังคงครองอันดับหนึ่งได้ทั้งในรูปของมันเม็ดมันเส้น และสตาร์ชมันสำปะหลัง ส่วนตลาดสหภาพยุโรปนั้น ความต้องการค่อนข้างผันผวน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตธัญพืชภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวมทั้งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยไปยังสหภาพยุโรป ต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศในอเมริกากลางและแอฟริกา
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น