Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 สิงหาคม 2552

การค้า

ส่งออกไปจีนเดือนกรกฎาคม 2552 ... ติดลบสูงขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2604)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนยังคงเผชิญกับความผันผวนจากภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแรงและยังฟื้นตัวไม่มั่นคงนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออกของจีนในตลาดโลกสะท้อนจากการส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมที่หดตัวสูงขึ้นหลังจากที่ชะลอลงในเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมชะลอลง และทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิตของจีนต้องได้รับผลกระทบให้ชะลอลงตามไปด้วย

โดยการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 21.6 (yoy) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มีอัตราหดตัวชะลอลงค่อนข้างมากเหลือร้อยละ 3.5 (yoy) นับว่าเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแรกที่การส่งออกของไทยไปจีนหดตัวสูงขึ้น หลังจากที่อัตราติดลบของการส่งออกของไทยไปจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมา 5 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน หากเทียบการส่งออกในเดือนกรกฎาคมกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) พบว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมกลับมาหดตัวร้อยละ 6.4 ถือเป็นอัตราติดลบเดือนแรกหลังจากที่การส่งออกสามารถขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันมาในช่วง 5 เดือนก่อนหน้า แต่มูลค่าส่งออกไปจีนในเดือนกรกฎาคมก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าเดือนอื่นๆ ของปีนี้ ยกเว้นเดือนมิถุนายนก่อนหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ที่เหลือที่มีส่วนทำให้การส่งออกในเดือนกรกฎาคมหดตัวเร่งขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ฐานเปรียบเทียบในเดือนกรกฎาคมของปี 2551 ที่มีมูลค่าส่งออกค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นเดือนที่มีการส่งออกสูงที่สุดในปี 2551 โดยมีมูลค่าส่งออก 1,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับมูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ที่อยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยอีกประการน่าจะมาจากการปรับความสมดุลในการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่จีนได้ปรับเพิ่มการนำเข้าในช่วงก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว หลังจากการที่สินค้าคงคลังเริ่มปรับลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มส่งผลรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกชะลอตัวต่ำสุด และเมื่อเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ทำให้การสั่งซื้อสินค้าในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้สินค้าคงคลังเริ่มเข้าสูระดับปกติแล้ว ทำให้คาดว่าภาคธุรกิจในจีนคงจะเริ่มชะลอการสั่งซื้อสินค้า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของจีนชะลอลง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกของจีนคาดว่าน่าจะปรับดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มยูโรและญี่ปุ่นที่ทยอยประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น นำโดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 โดยเติบโตร้อยละ 0.9 (QoQ) จากที่ติดลบใน 4 ไตรมาสก่อนหน้า ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.1 (QoQ) ตามลำดับ จากที่ติดลบร้อยละ 6.4 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรก ซึ่งสะท้อนชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจกลุ่มจี 3 ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะค่อยๆ ปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้การส่งออกของจีนไปยังกลุ่มจี 3 ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนที่กระเตื้องขึ้น

ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะทำให้ภาคการบริโภคและการลงทุนในจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกเหล่านี้คาดว่าจะช่วยให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนปรับดีขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลขับเคลื่อนให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่อาจขยายตัวเป็นบวกเนื่องจากฐานเปรียบเทียบของการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ค่อนข้างต่ำ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า