ทิศทางตลาดรถยนต์โลกในปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประเทศที่มีสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มที่จะหดตัวน้อยลงในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แม้การส่งออกรถยนต์ไทยจะมีทิศทางหดตัวรุนแรงจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยเริ่มได้รับปัจจัยบวกที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท เช่น น้ำมัน ทองคำ โลหะพื้นฐาน และสินค้าเกษตรบางชนิด ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของรถยนต์ไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น
ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อทิศทางของอุตสาหกรรม และรายได้ของประชากรในประเทศ ทำให้ความสามารถในการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์จากไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นตาม อย่างไรก็ตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมามีทิศทางสูงขึ้นอีกครั้ง และตัวเลขการว่างงานในต่างประเทศที่ยังคงสูงอยู่นี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไม่อาจเลี่ยง ทำให้การส่งออกยังคงหดตัวสูง
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะหดตัวในอัตราที่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30.0 ถึง 35.0 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออกประมาณ 254,000 ถึง 275,000 คัน ทำให้การส่งออกรถยนต์ไทยตลอดทั้งปี 2552 อาจหดตัวถึงร้อยละ 34.0 ถึง 37.0 คิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออกประมาณ 490,000 ถึง 510,000คัน
โดยคาดว่าการฟื้นตัวน่าจะเริ่มมาจากตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาบางประเทศก่อน โดยรถยนต์นั่งมีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่ารถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากตลาดผู้บริโภคทั่วไปเป็นตลาดที่สำคัญของรถยนต์นั่งซึ่งได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของรถกระบะและรถบรรทุก ที่อาจต้องอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศผู้นำเข้าเป็นปัจจัยสำคัญ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น