Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 สิงหาคม 2552

การค้า

การส่งออกพ้นจุดต่ำสุด … ครึ่งปีหลังมีโอกาสติดลบเป็นตัวเลขหลักเดียว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2602)

คะแนนเฉลี่ย

ากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2552 หดตัวลงร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน ที่หดตัวร้อยละ 25.9 แม้ว่ายังคงเป็นอัตราการหดตัวที่สูง แต่ถ้าพิจารณาในด้านมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาที่ 12,908 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 12,335 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิถุนายน และมูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลก็ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จึงอาจกล่าวได้ว่า การส่งออกของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

ส่วนในด้านการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม ลดลงร้อยละ 32.5 (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราการหดตัวที่ร้อยละ 29.3 ในเดือนก่อน โดยที่สำคัญเป็นผลมาจากการหดตัวของการนำเข้าเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาที่ 12,202 ล้านดอลลาร์ฯ จากเดือนก่อนมีมูลค่า 11,398 ล้านดอลลาร์ฯ ที่สำคัญ การนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ยังมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยังคงเป็นสัญญาณชี้นำที่ดีต่อภาวะส่งออกในเดือนข้างหน้า สำหรับดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมเกินดุล 706 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจาก 937 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า

โดยภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกมีมูลค่า 81,115 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 23.9 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 69,418 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 34.9 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 11,697 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีก่อน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะผลักดันการส่งออกให้ติดลบน้อยที่สุด โดยปรับเป้าหมายการส่งออกในปี 2552 ให้สูงขึ้นเป็นหดตัวร้อยละ 10.0-18.0 จากเดิมกำหนดไว้ที่หดตัวร้อยละ 15.0-19.0

สำหรับแนวโน้มในเดือนต่อๆ ไป คาดว่าจะยังคงปรับตัวดีขึ้น จากการที่ประเทศส่วนใหญ่น่าจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นในไตรมาสที่ 3/2552 และโดยส่วนใหญ่แล้วน่าจะกลับมาขยายตัวในแดนบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี ทิศทางดังกล่าวคาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ในช่วงระยะต่อไป โดยมีมูลค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 13,000 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้การส่งออกหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 15 ในเดือนสิงหาคม และเริ่มขยายตัวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยเฉลี่ยแล้ว คาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสติดลบน้อยลงมาเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว จากที่หดตัวสูงร้อยละ 23.5 ในช่วงครึ่งปีแรก และทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2552 อาจจะหดตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 14.5-17.5 โดยกรอบล่างดีขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 14.5-19.0

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า แรงขับเคลื่อนการส่งออกของไทยที่สำคัญ น่าจะมาจากตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีจีนและอินเดียเป็นศูนย์กลางของการเติบโตของภูมิภาค อีกทั้งจะมีปัจจัยหนุนจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่จะยิ่งชัดเจนขึ้นในปีข้างหน้าที่ความตกลงการค้าเสรีหลายกรอบจะมีผลบังคับใช้ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย การเปิดเสรีภาคการบริการในกลุ่มประเทศอาเซียนในสาขานำร่อง

รวมทั้งกรอบความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน ทั้งหมดนี้น่าจะสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคยิ่งขึ้น สำหรับประเทศ G-3 ที่เป็นตลาดหลักของไทยนั้นก็ยังมีความสำคัญ แต่การฟื้นตัวของประเทศในกลุ่มนี้ยังมีความไม่แน่นอน โดยสิ่งที่หลายฝ่ายยังกังวลคือเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้อาจจะกลับมาชะลอตัวเมื่อผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อยๆ หมดไป

ทั้งนี้ ธุรกิจที่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อน โดยพื้นฐานแล้วน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภค เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ขณะเดียวกัน สินค้าวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิต เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เหล็ก เคมีภัณฑ์และพลาสติก ก็น่าจะมีการเติบโตตามไปพร้อมกับตลาดสินค้าขั้นสุดท้าย และความต้องการใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า