Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 สิงหาคม 2552

อุตสาหกรรม

ตลาดขนมหวานสำเร็จรูป’52 : เผชิญความท้าทายรอบด้าน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2614)

คะแนนเฉลี่ย

ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย โดยจะพิจารณาในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ประกอบกับกระแสรักสุขภาพและห่วงใยรูปร่างในปัจจุบัน ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนการเลือกรับประทานอาหาร และเนื่องจากขนมหวานสำเร็จรูป(Confectionery) ซึ่งประกอบด้วย ลูกอม หมากฝรั่ง และช็อคโกแลต เป็นอาหารทานเล่น ที่บริโภคเพียงเพื่อความชื่นชอบในรสชาติ เพื่อคลายเครียด และสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน

ที่สำคัญยังมีส่วนผสมของน้ำตาลในสัดส่วนที่สูง ผู้บริโภคจึงเลือกที่จะเลี่ยงการบริโภคในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่จากอัตราการบริโภคขนมหวานสำเร็จรูปของคนไทยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 700 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ อังกฤษ และเวียดนาม เฉลี่ยที่ 14, 10 และ 2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จึงมองว่าในอนาคตตลาดขนมหวานสำเร็จรูปของไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก โดยคาดว่าในปี 2552 ตลาดลูกอม หมากฝรั่ง และช็อคโกแลต ยังคงขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 7-8 , 15 และ 20 ตามลำดับ จากมูลค่าตลาดขนมหวานสำเร็จรูปรวมในประเทศที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดลูกอมร้อยละ 50 หมากฝรั่งและช็อคโกแลตสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 25

จากภาวะการชะลอตัวของกำลังซื้อผู้บริโภค การแข่งขันของตลาดที่ค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งในภาวะกำลังซื้อชะลอตัว และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยได้เปิดเสรีทางการค้ากับหลายประเทศ ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ขนมหวานสำเร็จรูปที่หลากหลายและมีราคาถูกเข้ามาในไทยมากขึ้น อีกทั้ง กระแสห่วงใยสุขภาพ ประกอบกับปัจจัยทางด้านต้นทุนน้ำตาลที่อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิต ทั้งเพื่อการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมเช่นกลุ่มเด็กที่ชื่นชอบขนม สีสันและความสนุกเพลิดเพลิน รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขยายช่องทางทางการตลาด เกาะกระแสผู้บริโภคที่รักสุขภาพ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าตลาดในกลุ่มนี้จะขยายตัวมากขึ้น ดังเช่น ตลาดขนมหวานสำเร็จรูปของสหรัฐฯ ที่มีการเพิ่มส่วนผสมสมุนไพร ผลไม้ เครื่องเทศ ในช็อคโกแลตและลูกอม เช่น มะม่วง เปลือกส้ม ขิง พริก ซินนามอน และสับปะรด เป็นต้น ซึ่งให้รสชาติที่แปลกใหม่ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

อีกทั้ง ไทยเองยังมีความพร้อมในด้านวัตถุดิบผลไม้ สมุนไพร และเครื่องเทศอยู่แล้ว นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังควรเน้นการทำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักและทราบถึงคุณสมบัติและประโยชน์ของส่วนผสมใหม่ๆ ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย รักษาคุณภาพของสินค้า พกพาสะดวก ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคในภาวะที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว รวมถึงขยายตลาดสู่ประเทศในแถบเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา

เนื่องจากเป็นตลาดส่งออกขนมหวานสำเร็จรูปของไทยในอันดับต้นๆ และด้วยคุณภาพขนมหวานของไทย มาตรฐานด้านรสชาติ บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และมีราคาไม่แพง จึงเป็นไปได้ว่าขนมหวานสำเร็จรูปของไทยจะเป็นที่นิยมในตลาดขนมหวานของประเทศเพื่อนบ้าน และมีโอกาสที่ตลาดนี้จะเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ ยังควรมองหาลู่ทางขยายตลาดส่งออกสู่ตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศอินเดียที่มีแนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อีกทั้ง ชาวอินเดียยังมีอัตราการบริโภคช็อคโกแลตต่อคนต่ำมากอยู่ที่ประมาณ 100 กรัมต่อปีเท่านั้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม