Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 กันยายน 2552

เกษตรกรรม

กล้วย : ผลไม้ไทยที่ควรเร่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2630)

คะแนนเฉลี่ย

จากงานมหกรรมกล้วยแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-16 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา โดยในงานมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดกล้วย ทำให้เห็นว่า กล้วยเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยยังมีโอกาสขยายมูลค่าการส่งออกกล้วยได้อีกมาก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เช่น ขนมขบเคี้ยว แป้งกล้วย สารปรุงแต่งรส และส่วนผสมในอาหารที่มีกลิ่นกล้วย และการปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ นอกจากการส่งออกกล้วยในรูปของอาหารแล้ว ไทยยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วยในลักษณะของสินค้าอุปโภคได้อีกด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุง/ถนอมผิว ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยนำมาทอเป็นเสื้อผ้า และเชือกกล้วย

แต่ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐ และเอกชน ควรหันมาให้การสนับสนุน และส่งเสริมการเพาะปลูกกล้วยในเชิงการค้า และพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากกล้วยอย่างจริงจัง ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกที่เป็นตลาดหลักของไทยอย่างญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอย่างสหรัฐฯ หากมีการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าอีกไม่นาน กล้วย และผลิตภัณฑ์กล้วยของไทยจะสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และทำให้เป็นที่นิยม และรู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่จะส่งออกกล้วย และผลิตภัณฑ์กล้วยไปแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไทยต้องพึงระวังไม่ว่าจะเป็นตลาดคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เอกวาดอร์ และฟิลิปปินส์ ระยะเวลาของการเก็บเกี่ยว จนถึงการขนส่งไปยังต่างประเทศต้องแน่นอน และการบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนทำการส่งออก ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการดูแลอย่างเข้มงวด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และมาตรฐานในการส่งออกในแต่ละประเทศ เพื่อให้สินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม