Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กันยายน 2552

เกษตรกรรม

ประกันราคาสินค้าเกษตร : เกษตรกรได้รับประโยชน์...ลดภาระรัฐบาล (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2634)

คะแนนเฉลี่ย

โครงการประกันราคาพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รัฐบาลกำหนดเริ่มดำเนินการในฤดูการเพาะปลูกปี 2552/53 นับเป็นปีแรกที่รัฐบาลปรับมาตรการแทรกแซงตลาดพืชผลการเกษตรจากโครงการรับจำนำมาใช้โครงการประกันราคา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วโครงการประกันราคานั้นมีข้อดีกว่าโครงการรับจำนำหลายประการ โดยเฉพาะการบิดเบือนราคาตลาดที่น้อยกว่า โดยเน้นการปล่อยให้กลไกการตลาดสามารถดำเนินการได้มากกว่าการแทรกแซงโดยการรับจำนำสินค้าเกษตร อีกทั้งยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริหารจัดการสต็อก และการที่ต้องรับภาระขาดทุนในการระบายสต็อกของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการประกันราคา

เนื่องจากเป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการวางขั้นตอนไว้อย่างรัดกุม มีการตรวจสอบในทุกขั้นตอน ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามหลักการที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย รวมทั้ง การประกันราคาสินค้าเกษตรนี้ยังต้องเกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้ขั้นตอนการดำเนินการตั้งแต่การจดทะเบียนเกษตรกร การตรวจสอบความถูกต้อง การดำเนินการทำสัญญากับธ.ก.ส. อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆก็ต้องเป็นไปอย่างรัดกุม รอบคอบ และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการควบคู่กันไปคือ การประชาสัมพันธ์หรืออบรมชี้แจงให้บรรดาเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจกลไกในการดำเนินการระบบประกันราคาอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง นอกจากนี้ ความสำเร็จของโครงการประกันราคา คือ การที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการใช้สิทธิ์การประกัน โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดและราคาอ้างอิงกับราคาประกันตามสัญญาที่ได้ทำไว้ และอาจต้องรอจังหวะในการขายสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดเพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แม้ว่าจะมีการประกันราคาจากภาครัฐ(เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิง)แล้วก็ตาม

โดยในขณะที่รอราคานั้นเกษตรกรก็ควรจะต้องสามารถบริหารจัดการสต็อกสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าในขณะที่รอจำหน่าย ซึ่งก็เป็นการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการมียุ้งฉางในระดับท้องถิ่น สำหรับรัฐบาลนั้นคงต้องมีการติดตามการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการเตรียมมาตรการเสริม โดยเฉพาะวงเงินสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งโรงสี ลานมัน และโรงงานอาหารสัตว์ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจจะยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาในตลาดส่งออกด้วย เพราะอาจจะส่งผลย้อนกลับมาให้เกิดความผันผวนต่อราคาในประเทศได้ โดยเฉพาะข้าวที่มีทั้งมูลค่าและสัดส่วนของการส่งออกที่สูง และมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม