Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กันยายน 2552

การค้า

มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน : ผลกระทบต่อการค้าโลก & ไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2639)

คะแนนเฉลี่ย
สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษียางล้อรถยนต์ของจีนในครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ส่งออกยางล้อรถของจีนได้รับผลกระทบที่ถูกปรับภาษีขึ้นถึงร้อยละ 31 (จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 35 ในปีแรก) โดยทางการจีนยื่นฟ้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) และใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้สหรัฐฯ โดยประกาศไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าไก่และรถยนต์จากสหรัฐฯ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าการส่งออกไก่ของสหรัฐฯ ไปจีนน่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกไก่ที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุ้งเท้าไก่ การใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจเร่งให้กระแสการกีดกันทางการค้าทั่วโลกรุนแรงขึ้น ซ้ำเติมต่อภาวะการค้าโลกที่ซบเซาอยู่แล้วในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยถ่วงการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งปัญหาของมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในที่ประชุมกลุ่มผู้นำจี 20 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-25 กันยายนนี้
การส่งออกของจีนที่เผชิญกับปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไปจีนของประเทศในเอเชียและไทยสำหรับใช้ผลิตเพื่อส่งออกอาจต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย ในฐานะที่จีนเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกและยังมีบทบาทสำคัญในการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยเพื่อผลิตและส่งออก

สำหรับผลต่อประเทศไทยต่อการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กับยางล้อรถยนต์จากจีนนั้น คาดว่าการส่งออกยางพาราของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการที่ยางล้อรถยนต์ของจีนถูกสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษี ทำให้ความต้องการนำเข้ายางพาราจากจีนเพื่อผลิตเป็นยางล้อส่งออกไปสหรัฐฯ ชะลอลง แต่คาดว่าผลกระทบนี้อาจไม่รุนแรงนัก เนื่องจากยังมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากจีนเพื่อใช้ผลิตยางล้อรถสนองความต้องการของตลาดรถยนต์ในจีนที่ยังเติบโตได้ดี เนื่องจากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ของภาครัฐ นอกจากนี้ การปรับขึ้นภาษียางล้อของสหรัฐฯ จากจีน อาจเร่งให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ของจีนอาจหันมาลงทุนผลิตยางล้อในไทยมากขึ้นด้วย

สำหรับการส่งออกยางล้อรถของไทยไปสหรัฐฯ อาจมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับยางล้อรถจีนที่ถูกปรับเพิ่มภาษี แต่การที่ทางการจีนอาจใช้มาตรการช่วยเหลือบริษัทผลิตยางล้อและบริษัทส่งออกยางล้อในประเทศ ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน เช่น การปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนภาคส่งออก (Rebate Tax) การปรับลดอัตราภาษีส่งออกและการใช้ยางล้อที่ผลิตในประเทศมากขึ้น อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และส่งผลให้ขีดความสามารถด้านราคาของยางล้อรถจีนในสหรัฐฯ ดีขึ้น ทำให้ผลดีข้างต้นของการส่งออกยางล้อรถของไทยไปสหรัฐฯ อาจลดลงไป นอกจากนี้ การส่งออกยางล้อรถของไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกับยางล้อของจีนทั้งในประเทศไทยและในตลาดประเทศที่สาม เนื่องจากผู้ส่งออกยางล้อของจีนอาจหันมาส่งออกไปตลาดอื่นๆ มากขึ้น ทดแทนตลาดสหรัฐฯ ที่ถูกปรับขึ้นภาษี

ส่วนการตอบโต้ทางการค้าของจีนที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นภาษีสินค้าไก่จากสหรัฐฯ โดยอยู่ระหว่างการไต่สวนการทุ่มตลาดนั้น คาดว่าอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อโอกาสการขยายการส่งออกไก่ของไทยไปจีนเท่าไรนัก เนื่องจากสินค้าไก่ที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นไก่แปรรูป โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง รองลงมาเป็นอังกฤษ (สัดส่วนร้อยละ 29) ขณะที่สินค้าส่งออกไก่ของสหรัฐฯ ที่จีนนำเข้าส่วนใหญ่เป็นอุ้งเท้าไก่ และการส่งออกของไทยไปจีนเป็นสินค้ากระดูกสัตว์ปีกและขนสัตว์ปีกและสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ซึ่งยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อยเฉลี่ยปีละราว 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสินค้าไก่ของไทยไปจีนจะได้รับอานิสงส์จากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีน ตั้งแต่ปี 2548 จนอัตราภาษีในปัจจุบันลดลงเหลือร้อยละ 5 แล้วก็ตาม แต่มูลค่าส่งออกสัตว์ปีกของไทยไปจีนระหว่างปี 2548 ถึงปัจจุบันยังค่อนข้างน้อย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า