Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 กันยายน 2552

การค้า

FTA ปี 2553 : โอกาสและการปรับตัวของธุรกิจไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2651)

คะแนนเฉลี่ย

ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยและประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าหลายพันรายการในกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 7 ฉบับและที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า 2 ฉบับคือ FTA อาเซียน-อินเดียและ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ทั้งนี้สินค้าทุกรายการในบัญชีลดภาษีของอาฟตา FTA ไทย-อินเดียและ FTA อาเซียน-จีนจะมีอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 การยกเลิกภาษีตามความตกลงฯ FTA หลายฉบับย่อมจะทำให้การส่งออกของไทยมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นตามจำนวนสินค้า และจำนวนความตกลงฯ FTA ที่มีเงื่อนไขเฉพาะแตกต่างกันไป ขณะที่ในปัจจุบันผู้ส่งออกไทยยังคงใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาไม่มากนัก

ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากโครงสร้างการผลิตของไทยที่ไม่สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าทำให้สินค้าไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA สินค้าที่ไทยมีศักยภาพสูงโดยเฉพาะสินค้าเกษตรมักถูกประเทศคู่เจรจานำไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งมีภาษีสูงและมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีรวมถึงกฎระเบียบทางเทคนิคที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับแหล่งกำเนิดสินค้าซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละความตกลง แนวทางหนึ่งคือ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีในการสร้างเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำในกระบวนการผลิตจนถึงภาคการส่งออก เพื่อให้สินค้ามีต้นทุนการผลิตต่ำลง มีโอกาสได้รับแหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศไทยได้มากขึ้นและสามารถผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแบบย้อนกลับในตลาดต่างประเทศได้

นอกจากนี้ผู้ผลิตควรจะพัฒนาและแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้นโดยเน้นการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในด้านคุณภาพและการออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่างของสินค้า ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมและ ต่อต้านโลกร้อนรวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมอย่างมาก เพราะคาดว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าของประเทศคู่เจรจามากขึ้นในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA