Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ตุลาคม 2552

การค้า

FTA อาเซียน-จีน: โอกาสขยายการค้าของไทยและอาเซียนในมณฑลกว่างซี (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2185)

คะแนนเฉลี่ย

การจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-Asean Expo) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2552 ณ นครหนานหนิง มณฑลกว่างซี (เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี) เป็นการขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างจีน-อาเซียน โดยเฉพาะการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีซึ่งเปรียบเสมือนประตูการค้าสำคัญระหว่างจีนและอาเซียน โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าของไทยและประเทศอาเซียนกับประเทศจีนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไทยที่มีโครงการเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทย-จีนที่นครหนาน หนิง ในมณฑลกว่างซีและนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

โดยประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ รัฐบาลไทยได้เตรียมเสนอโครงการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในอาเซียนรวม 3 โครงการ ต่อกองทุนอาเซียน-จีน โดยมีโครงการก่อสร้างเส้นทางอาร์ 12 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งจากกรุงเทพฯ เชื่อมต่อไปยังเมืองผิงเสียง ในมณฑลกว่างซีรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้การขยายเส้นทางขนส่งอาร์ 12 ไปยังมณฑลกว่างซีดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสนับสนุนโอกาสการขยายช่องทางการค้าของไทยในตลาดจีนผ่านมณฑลกว่างซี

ปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการค้ารวมทั้งหมดในมณฑลกว่างซี โดยในปี 2551 การค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนมีมูลค่ารวม 3,987 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว่าร้อยละ 37 จากปี 2550 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอาเซียนขยายตัวร้อยละ 56.8 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) ส่วนมูลค่าการนำเข้าจากประเทศอาเซียนขยายตัวร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า (y-o-y)

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้การค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ลดลงเกือบร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) โดยสินค้านำเข้าสำคัญที่ขยายตัวลดลงในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ได้แก่ สินค้าแร่ธาตุ ถั่วลิสง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนเป็นรายประเทศ พบว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี รองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ โดยในปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างกว่างซี-เวียดนามสูงถึง 3,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเกือบร้อยละ 32 จากปี 2550 (y-o-y) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.3 ของมูลค่าการค้าระหว่างกว่างซีและอาเซียนทั้งหมด

ขณะที่ไทยมีสัดส่วนการค้ารวมระหว่างกว่างซีกับไทยน้อยกว่าเวียดนามอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.9 ของการค้ารวมทั้งหมดของกว่างซี มีมูลค่าการค้ารวม 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 37.8 จากปี 2550 (y-o-y) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังมณฑลกว่างซีได้แก่ สินค้าเกษตรอาทิ ผัก ผลไม้ และยางพารา รวมถึงอัญมณี และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ การที่เวียดนามมีศักยภาพทางการค้าในมณฑลกว่างซีสูงกว่าไทยน่าจะมีสาเหตุมาจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับมณฑลกว่างซี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับเวียดนาม และยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากจีนสำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกันด้วย อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนา โลจิสติกส์ของไทยที่เชื่อมโยงระบบขนส่งสินค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าเข้าสู่มณฑลกว่างซีของจีนทางเส้นอาร์ 9 และอาร์ 12 น่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยกับคู่แข่งทางการค้าในประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความทัดเทียมกันโดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของไทย นอกจากนี้ ไทยยังจะได้รับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของทั้งตลาดอาเซียนและจีน

ทั้งนี้ คาดว่าการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น และขยายตัวในแดนบวกในปี 2553 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากขยายตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 และปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนอย่างสมบูรณ์ในปี 2553 โดยสินค้าในบัญชีปกติจะมีภาษีเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีของจีนคือ ผลไม้ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคจีนที่ขยายตัวมากขึ้น ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนได้แก่ ทุเรียน ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ลำใย มังคุด มะขาม มะม่วง เงาะ และกล้วย ส่วนสินค้าส่งออกของไทยประเภทอื่นที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันพืช ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น

นอกจากโอกาสทางการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่โอกาสการขยายตัวของภาคลงทุนและการค้าภาคบริการในภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ของผู้ประกอบการไทยโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและจีน อุตสาหกรรมการลงทุนของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบ ส่วนโอกาสการลงทุนในภาคธุรกิจบริการได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีก การเงินและธนาคาร เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานงานและขยายความร่วมมือกับประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายละเอียดพิธีการการขนส่งสินค้าระหว่างกัน เพื่อขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมแก่การคมนาคมขนส่งของไทยมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการไทยควรทำการศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในตลาดจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังควรคำนึงถึงคุณภาพสินค้าและการพัฒนาตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคเพื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐในการให้ข้อมูลด้านการค้าที่เป็นประโยชน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า