Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ตุลาคม 2552

การค้า

ส่งออกไปจีนเดือนกันยายน ... ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2671)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายนอยู่ที่ 1.468 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคมที่มีมูลค่า 1.471 พันล้านดอลลาร์ศหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 13 เดือน ขณะที่สามารถขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และมีอัตราเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 (YoY) จากร้อยละ 1.2 ในเดือนสิงหาคม (YoY) ตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 สามารถเติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 (YoY) จากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 2 และ ร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก

เนื่องจากแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ ทำให้ความต้องการของภาคเศรษฐกิจภายในจีนในไตรมาสที่ 3 เติบโตได้ต่อเนื่องทั้งในภาคการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ และเครื่องไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับความต้องการในต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นสะท้อนจากการส่งออกของจีนในเดือนกันยายนที่หดตัวชะลอลงต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน เหลือร้อยละ 15.2 (YoY) จากร้อยละ 23 ในเดือนก่อนหน้า (YoY)

ขณะที่ความต้องการนำเข้าของจีนหดตัวชะลอลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือนเหลือร้อยละ 3.5 (YoY) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวได้ต่อเนื่องในเดือนกันยายนนี้ และเป็นการเติบโตที่ดีกว่าตลาดส่งออกอื่นๆ ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักอย่างอาเซียน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราหดตัวชะลอลงในเดือนกันยายนตามสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้สินค้าส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญกับความต้องการนำเข้าของจีนที่ชะลอลงหลังจากที่ปริมาณสินค้าคงคลังเริ่มเข้าสู่ระดับปกติแล้วสำหรับสินค้าบางรายการ เช่น เหล็ก และทองแดง ที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาในช่วงก่อนหน้านี้ แต่คาดว่าปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ตามแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของทางการจีนที่อัดฉีดเงินมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการบริโภคและการลงทุน

โดยสาขาเศรษฐกิจที่ได้อานิสงส์ ได้แก่ เครื่องไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปเมื่อปริมาณสินค้าคงคลังเริ่มปรับลดลง ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องไฟฟ้า/ส่วนประกอบอื่นๆ

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งน่าจะได้แรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกไปต่างประเทศของจีนที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น แม้ว่าความต้องการในตลาดเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก็ตาม เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ส่งผลให้การบริโภคยังอ่อนแรง แต่ก็คาดว่าจะช่วยให้ความต้องการนำเข้าเพื่อการผลิตส่งออกของจีนกระเตื้องขึ้นได้สะท้อนจากการส่งออกสิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นของจีนมีอัตราหดตัวชะลอลงค่อนข้างมากในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงตลาดต่างประเทศที่กลับมากระเตื้องขึ้น ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสำหรับงานเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า