Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 พฤศจิกายน 2552

อุตสาหกรรม

แนวโน้มธุรกิจสายการบิน.. หวังท่องเที่ยว-ส่งออกหนุนธุรกิจฟื้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2685)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2552 วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจการบินทั่วโลกต้องเผชิญกับการขาดทุนเป็นมูลค่ามหาศาลต่อเนื่องจากในปี 2551 โดยจากการประเมินของ IATA คาดว่าโดยรวมทั้งปี 2552 ธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะขาดทุนเป็นมูลค่ากว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในแง่ของธุรกิจการบินในไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3/2552 แนวโน้มของธุรกิจมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้า ขณะที่ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการกระเตื้องขึ้นของการส่งออก อย่างไรก็ดี การเติบโตของรายรับอาจไม่กลับมาขยายตัวมากนักเนื่องจากอัตราค่าโดยสารและค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสภาพตลาดของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารในช่วงไตรมาสสุดท้ายอาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.6 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551) ทำให้จำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปีอาจหดตัวประมาณร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากในปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 4.6 ขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 4/2552 คาดว่าอาจกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 22 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 27)

อย่างไรก็ดี การตกต่ำของการส่งออกทำให้ปริมาณการขนส่งรวมทั้งปีจะยังคงติดลบที่ประมาณร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งหดตัวร้อยละ 4 ส่วนแนวโน้มในปีหน้า คาดว่าตลาดของธุรกิจการบินน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ(การส่งออกและการท่องเที่ยว) โดยทั้งจำนวนผู้โดยสารและปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวก

แม้ว่าสภาพตลาดโดยรวมจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธุรกิจสายการบินของไทยจะยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านโดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ซึ่งคู่แข่งในตลาดสายการบินรูปแบบปกติมีการปรับเปลี่ยนเครื่องบินรุ่นใหม่ ทำให้คุณภาพการให้บริการดีขึ้น อีกทั้งยังต้องเผชิญคู่แข่งจากสายการบินโลว์คอสต์ที่หันมาขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่การบริหารจัดการต้นทุนในภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่งในการรักษาอัตรากำไรของธุรกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม