Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ธันวาคม 2552

เกษตรกรรม

ปี 2553...ปีทองข้าวไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2701)

คะแนนเฉลี่ย

วงการค้าข้าวคาดหมายว่าปี 2553 จะเป็นปีทองของข้าวไทย เนื่องจากปริมาณการผลิตข้าวในตลาดโลกลดลง จากผลกระทบสภาพอากาศแปรปรวน ในขณะที่ความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ทั้งจากฟิลิปปินส์ที่ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากลมมรสุม ส่วนอินเดียประสบปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ต้องพลิกกลับจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 4 ของโลกไปเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าว ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของไทยในปี 2553 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีของไทยที่จะสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยข้าวที่จะได้รับอานิสงส์คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง ปลายข้าว และข้าวเหนียว ส่วนข้าวขาวนั้นแม้ว่าจะมีโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวของไทยต้องระวัง คือ ในปี 2553 มีปัจจัยที่กดดันให้ราคาข้าวมีโอกาสผันผวน ได้แก่

-สภาพอากาศที่แปรปรวน สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตข้าว ซึ่งยังคงต้องจับตาผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนิโนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตข้าวของอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนไทยอาจจะเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง หรือปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตข้าวนาปรัง ทำให้คาดว่าปริมาณการผลิตข้าวของโลกอาจจะลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ และปริมาณความต้องการนำเข้าข้าวอาจจะเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มราคาข้าวอาจจะดีดตัวแรงกว่าที่คิดก็ได้

-นโยบายของรัฐบาล ประเด็นที่ต้องจับตาคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อราคาและการแข่งขันในตลาดข้าว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประมูลนำเข้าข้าวเร็วกว่าปกติของฟิลิปปินส์ การประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติของอินเดีย การประกาศนำเข้าข้าวของอินเดีย รวมไปถึงการปรับลดค่าเงินด่องลงร้อยละ 5.4 จาก 17,034 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 17,961 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ การประกาศลดค่าเงินด่องของเวียดนาม ที่ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามยิ่งมีราคาถูกกว่าข้าวไทยลงไปอีกในสายตาของประเทศผู้นำเข้าข้าว ซึ่งกระทบต่อสถานะของข้าวไทยในตลาดโลก และโอกาสการแย่งชิงตลาดข้าวในปี 2553

สำหรับประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลที่ทำให้ราคาข้าวของไทยมีโอกาสผันผวนคือ การเปลี่ยนนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวจากมาตรการจำนำเป็นมาตรการประกันรายได้เกษตรกร และในช่วงปลายปี 2552 เป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนมาตรการ นับเป็นปัจจัยฉุดให้ราคาข้าวในประเทศพุ่งขึ้นช้ากว่าราคาข้าวในตลาดโลก และราคาข้าวจะผันผวนไปตามสถานการณ์ของตลาด นอกจากนี้ การลดภาษีนำเข้าข้าวของไทยตามกรอบข้อตกลงอาฟตาเหลือร้อยละ 0 ผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวของไทยยังคงต้องติดตามผลกระทบต่อไป ทั้งในแง่ของโอกาสที่ข้าวจากพม่า และกัมพูชาจะทะลักเข้ามาในประเทศ กดดันให้ราคาข้าวในประเทศลดต่ำลง รวมทั้งโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลจากการเจรจาขอชดเชย กรณีที่ฟิลิปปินส์ไม่ลดภาษีนำเข้าข้าวตามข้อผูกพันกับอาฟตา

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวงการค้าข้าวปี 2553 แยกพิจารณาได้ดังนี้

-ชาวนา จากแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจะได้รับอานิสงส์ ในขณะที่ชาวนาที่ปลูกข้าวขาวที่ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับเวียดนามนั้นยังคงต้องรอจังหวะที่เวียดนามส่งออกหมดแล้ว และต้องรอผลผลิตข้าวฤดูใหม่ เนื่องจากราคาข้าวขาวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าเวียดนาม และเวียดนามใช้กลยุทธ์ราคาเบียดแย่งสัดส่วนตลาดข้าวขาวของไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวนาเป็นกังวล ก็คือ ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้สร้างผลกำไรมากนัก เพราะต้นทุนปัจจัยการผลิตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย เหมือนในช่วงปี 2550-2551 ที่ราคาปุ๋ยเคมีปรับขึ้นไปกว่า 2 เท่าตัว รวมถึงยาปราบศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ก็มีราคาเพิ่มขึ้น และมีปัญหาขาดแคลน ส่วนราคาเช่าที่ดินก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า รวมทั้งมีการเรียกเก็บเป็นรายฤดูนา ไม่ใช่รายปีเหมือนเดิม

-ผู้ส่งออก/โรงสี ในช่วงที่ราคาข้าวเป็นช่วงขาขึ้น การที่ผู้ส่งออกและโรงสีเริ่มเก็บสต็อกข้าว สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาข้าวที่อาจจะทำให้ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนเช่นเดียวกับในช่วงปี 2551 โดยการรับคำสั่งซื้อไว้แล้ว แต่หาซื้อข้าวเพื่อการส่งมอบไม่ได้ หรือต้องซื้อข้าวในราคาที่แพงขึ้นกว่าราคาที่รับคำสั่งซื้อไว้ ซึ่งการติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิดจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง

-ผู้บริโภคข้าวในประเทศ สำหรับผู้บริโภคข้าวในประเทศ สิ่งที่กังวลคือ ราคาข้าวมีแนวโน้มจะแพงขึ้น และอาจจะเกิดปัญหาความตื่นตระหนกเกรงว่าข้าวจะขาดตลาด ทำให้มีการซื้อข้าวไปกักตุนในครัวเรือน จนกระทั่งเกิดภาวะที่ผู้ประกอบการส่งข้าวไปให้ทางโมเดิร์นเทรดไม่ทัน ข้าวถุงจึงไม่มีวางตามชั้นจำหน่าย เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกปี 2551 คาดการณ์ว่าในช่วงต้นปี 2553 ราคาข้าวสารบรรจุถุงมีแนวโน้มแพงขึ้นประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวถุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

-รัฐบาล ในช่วงราคาข้าวอยู่ในช่วงขาขึ้น รัฐบาลต้องมีมาตรการรับมือกับข้าวแพง ทั้งทางด้านคุณภาพและมาตรฐาน เนื่องจากหากชาวนาเร่งลงทุนปลูกข้าวเพิ่ม ในอนาคตถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง อาจเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำ รวมทั้งหากมีการเพิ่มรอบในการทำนามากขึ้น อาจจะส่งผลต่อคุณภาพข้าวโดยรวมของไทย นอกจากนี้ ในช่วงที่ราคาข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นโอกาสอันดีในการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาล แต่ก็คงต้องพิจารณาทั้งจังหวะและปริมาณที่เหมาะสมด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม