ในปี 2552 การส่งออกรถยนต์ของไทยได้หดตัวลงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้มีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยเริ่มส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศในปี 2539 โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างมากนับตั้งแต่สหรัฐฯประสบกับปัญหาวิกฤตทางการเงิน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยปี 2552 หดตัวประมาณร้อยละ 31 โดยคิดเป็นจำนวนประมาณ 533,000 คัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 นี้ คาดว่าปัจจัยบวกต่างๆที่เริ่มมีการส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 นี้ จะช่วยกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ไทยให้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2552 ซึ่งปัจจัยบวกต่างๆประกอบไปด้วย ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเทศที่เป็นตลาดหลักของการส่งออกรถยนต์ของไทยหลายแห่งพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สูง การลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใต้กรอบการเปิดเสรีการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกรอบอาฟต้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดโดยเฉพาะรถอีโคคาร์ ซึ่งค่ายรถบางค่ายในไทยมีกำหนดที่จะผลิตและเปิดตัวรถรุ่นนี้เข้าสู่ตลาดในปี 2553 และฐานตัวเลขการส่งออกที่ต่ำค่อนข้างมากในปี 2552 นี้
ทว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น โอกาสที่จะเกิดความไม่ต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯที่มีโอกาสจะแข็งค่าต่อเนื่อง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงจากราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำมัน ซึ่งยังคงมีโอกาสผันผวนสูงในปีหน้า ทำให้โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 จะอยู่ระหว่าง 575,000 ถึง 595,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 8 ถึง 12 จากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 31 ในปี 2552 โดยยังคงเผชิญกับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญหลายประการที่อาจจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตของตลาดอยู่ อย่างไรก็ตามหากไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรค เช่น การกีดกันการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) รูปแบบต่างๆจากประเทศผู้นำเข้า รวมถึงหากการตอบรับของตลาดต่อรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2553 เป็นไปได้ดีกว่าที่คาด อาจจะผลักดันให้ตลาดเติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้ในปี 2553 ไทยอาจจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ใกล้เคียง 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 1 ล้านคันในปี 2552 อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาขยายตัวในปี 2553 แต่ทว่าการที่อุตสาหกรรมจะสามารถฟื้นตัวกลับมามีระดับการผลิตเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตที่ 1.4 ล้านคันนั้น คาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 3 ปีนับจากนี้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น