Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ธันวาคม 2552

การค้า

โอกาสส่งออกสินค้าไทย ... อานิสงส์ FTA อาเซียน-จีน ภาษีเป็น 0% วันที่ 1 ม.ค. 2553(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2713)

คะแนนเฉลี่ย
การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2553 ได้อานิสงส์จากการปรับลดภาษีสินค้าปกติ (Normal Track) ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีน เหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีตัวจักรสำคัญมาจากความต้องการภายในจีน เนื่องจากความอ่อนแรงของภาคการบริโภคในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ทางการจีนยังคงดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนต่อไปในปี 2553 ซึ่งในระยะยาวคาดว่าความต้องการภายในของจีนจะมีน้ำหนักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ขณะที่ภาคส่งออกต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่หันไปเน้นการออมมากขึ้น ทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกของจีนต้องอ่อนแรงลงไป เศรษฐกิจจีนที่เน้นการเติบโตของภาคการบริโภคภายในประเทศตามการขยายตัวของเขตเมืองและการขยายความเจริญเข้าไปยังพื้นที่ชนบทและพื้นที่มณฑลตอนในซึ่งถือว่ายังมีศักยภาพการเติบโตอีกมาก คาดว่าจะเป็นฐานการบริโภคที่สำคัญของจีนในระยะต่อไป ระดับรายได้ของประชาชนจีนที่สูงขึ้นจะส่งผลให้พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและความต้องการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยจะเน้นความสะดวกสบายมากขึ้น และเน้นคุณภาพสินค้ามากขึ้น ปัจจัยด้านราคาอาจลดความสำคัญลงไป ทำให้สินค้าที่ตอบสนองรายได้ระดับกลาง-บนน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น
สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลดีจากการลดภาษีของจีนเป็นร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขยายตัวของความต้องการบริโภคของจีนในระยะยาว ได้แก่ สินค้าอาหาร/เครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้ (องุ่น) ไวน์ ไอศครีม ของใช้ เช่น กระเป๋า/เครื่องหนัง เสื้อผ้า/สิ่งทอ อัญมณี/เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องสำอางและน้ำหอม ส่วนธุรกิจภาคบริการของไทยที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในจีนได้สะดวกมากขึ้นจากการเปิดตลาดภาคบริการในรอบที่ 2 ที่ครอบคลุมกิจกรรมสาขาบริการที่กว้างขึ้น ซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปและมีผลบังคับใช้ในปี 2553 โอกาสของธุรกิจบริการไทยในจีนที่น่าจะเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ โรงแรม ธุรกิจสปา/นวดแผนไทย ร้านอาหาร โรงพยาบาล คลีนิคเฉพาะทาง ศูนย์ Day Care และการศึกษาด้านวิชาชีพ ขณะเดียวกันแนวโน้มธุรกิจที่จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในภาคบริการ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ภาคธนาคาร โรมแรม ศูนย์บริการด้านสุขภาพ ธุรกิจสปา ส่วนภาคการผลิต ได้แก่ เกษตรแปรรูป/อาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ พลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยาง

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในตลาดจีนเนื่องจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคการค้าสินค้าและบริการภายใต้ FTA อาเซียน-จีน เช่นเดียวกับไทย รวมทั้งการเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในประเทศจากการที่ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าและภาคบริการให้จีนภายใต้ความตกลง FTA เช่นกัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อัญมณี/เครื่องประดับ นอกจากนี้ แม้ว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนจะได้อานิสงส์จากการปรับลดภาษีเป็นร้อยละ 0 แต่ยังอาจต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้าน รวมถึงการเก็บภาษีท้องถิ่นในจีน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมทั้งมาตรการทางการค้าของจีนที่กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าที่เข้มงวด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอาหาร ส่วนธุรกิจบริการอาจต้องประสบกับกฎระเบียบภายในของจีนที่เข้มงวดเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานแรงงาน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า