Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ธันวาคม 2552

การค้า

ส่งออกเดือน พ.ย. พลิกเป็นบวก แต่ยังคงต่ำกว่าคาด … แนวโน้มปี 2553 ขยายตัว 9.0-12.0% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2717)

คะแนนเฉลี่ย

แม้การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2552 กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ที่ร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) แต่นับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด ขณะที่มูลค่าการส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 13,840 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 14,813 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนตุลาคม ในด้านมูลค่าการส่งออกของเดือนพฤศจิกายนที่ปรับฤดูกาล หดตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Seasonally Adjusted, Month-on-Month) หลังจากเมื่อเดือนตุลาคมก็ได้มีสัญญาณการชะลอตัวอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงในเดือนล่าสุด แต่การส่งออกของประเทศอื่นๆ ในเอเชียส่วนใหญ่ ยังคงมีมูลค่าสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์

ทั้งนี้ แม้สินค้าส่งออกสำคัญ 2 อันดับแรก คือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม (MoM) แต่สินค้าหลายกลุ่มมีมูลค่าการส่งออกลดลง ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ สินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบ เช่น ทองคำและน้ำมัน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการเร่งส่งออกไปแล้วในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า และกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้นและมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างรุนแรง ที่โดยปกติช่วงเดือนนี้จะเป็นฤดูกาลหลักที่มีการส่งมอบสินค้า แต่กลับส่งออกได้น้อยกว่าเดือนก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ ยังพบว่าการส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะยางพารา (ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมเกือบเท่าตัว) ซึ่งสะท้อนความต้องการนำเข้าเพื่อเก็บสต็อกวัตถุดิบของจีน

โดยภาพรวม การส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกหดตัวลงร้อยละ 17 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในเดือนธันวาคม น่าจะยังไม่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้ามากนัก เนื่องจากในหลายประเทศยังคงมีความวิตกกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนแนวโน้มในปีหน้า จากปัจจัยหนุนในด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2552 แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในปี 2553 จะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณร้อยละ 9.0-12.0 จากที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 15.0 ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2553 ยังคงอยู่ภายใต้ความเสี่ยงหลายด้าน โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ ความเปราะบางของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว ความกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ และแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2553 ได้แก่ สภาวะการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรง มาตรการปกป้องทางการค้าของแต่ละประเทศ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ปัญหาทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าในต่างประเทศมีความไม่มั่นใจต่อการส่งมอบสินค้าจากผู้ประกอบการไทย เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า