Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มกราคม 2553

อุตสาหกรรม

เขตการค้าเสรีอาเซียน...ผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของเม็ดพลาสติกไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2727)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินโครงการ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไว้ชั่วคราว ทำให้ทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ณ ขณะนี้อยู่ในภาวะชะงักงัน แต่ด้วยการพัฒนาภายในอุตสาหกรรมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตามโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ซึ่งแต่ละโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการนั้นได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ EIA เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ และคาดว่าโครงการต่างๆ จะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2553 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2553 กำลังการผลิตเม็ดพลาสติกหลักของไทยที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.4 ล้านตัน และคาดว่าจะมีมากเกินกว่าความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกทั้งหมด จะทำให้ไทยสามารถมีเม็ดพลาสติกเหลือเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยไปยังตลาดโลกในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 5-6 ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกของโลกขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยอาเซียนเป็นตลาดส่งออกเม็ดพลาสติกหลักของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13.0 ต่อปี หรือมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 21.7 ของมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมดของไทย ซึ่งคาดว่าหลังการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรสินค้าเม็ดพลาสติกภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป จะทำให้การแข่งขันของสินค้าเม็ดพลาสติกในตลาดอาเซียนมีความรุนแรงมากขึ้น โดยในระยะสั้นคาดว่ามูลค่าและปริมาณการนำเข้าเม็ดพลาสติกของไทยจากสิงคโปร์จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโพลิเอทิลีนและโพลิโพรพิลีน ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกสำคัญที่ใช้ในการขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติก และเม็ดพลาสติกเกรดวิศวกรรมหรือโพลิอะซิทัลซึ่งมีความต้องการใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศที่กำลังขยายตัว โดยในเบื้องต้นคาดว่ามูลค่าการนำเข้าเม็ดพลาสติกของไทยจากตลาดอาเซียนในปี 2553 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3-5 จากปี 2552

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแหล่งนำเข้าเม็ดพลาสติกหลักของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถือเป็นแหล่งนำเข้าเม็ดพลาสติกหลักที่ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าในอัตราที่สูงเนื่องจากสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณสมบัติของเม็ดพลาสติกจากตลาดทั้งสองแหล่งตรงกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรเม็ดพลาสติกของไทยลงดังกล่าว ไม่น่าจะทำให้การนำเข้าเม็ดพลาสติกของไทยจากสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นมากนัก ขณะที่ในปี 2553 เมื่อโครงการต่างๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ของไทยแล้วเสร็จและสามารถดำเนินการผลิตได้ตามกำหนดเวลา ก็น่าจะทำให้ไทยมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มสูงขึ้น และมีเม็ดพลาสติกส่วนเกินที่เหลือเพื่อการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยยังเกินดุลการค้าในสินค้าเม็ดพลาสติกในตลาดอาเซียนได้ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2553 มูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยไปยังตลาดอาเซียนน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 7-9 โดยโพลิเอทิลีนและโพลิอะซิทัลจะเป็นเม็ดพลาสติกสำคัญที่ไทยสามารถส่งออกได้มากที่สุด ขณะที่เม็ดพลาสติกชนิดโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ก็ยังเป็นอีกหนึ่งชนิดเม็ดพลาสติกที่ไทยน่าจะส่งออกได้มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับในปี 2553 นั้น ยังมีประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มของราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ความต้องการเม็ดพลาสติกในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง การปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามซึ่งจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยไปยังเวียดนามมีแนวโน้มลดลง และแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขยายการลงทุนใหม่ๆ ของผู้ประกอบการในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม