Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 มกราคม 2553

อุตสาหกรรม

เศรษฐกิจเอเชียฟื้น หนุนส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 53 อาจโตได้ถึง 10.4% (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2196)

คะแนนเฉลี่ย

แนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกอาจเติบโตได้ในช่วงร้อยละ 5.4 ถึงร้อยละ 10.4 คิดเป็นมูลค่า 44,542-46,656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดีขึ้นจากปีก่อนที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 14 หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลาย และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากผลของฐานของปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ โดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 และคาดว่าสินค้าสำคัญ คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (ส่วนใหญ่เป็นฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 7-12 ตามแนวโน้มตลาดโลกโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของสินค้าไอที (คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ) และอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้าอาจหดตัวร้อยละ 3 ถึงขยายตัวร้อยละ 5 ด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลดีจากการเข้ามาของทุนจากต่างประเทศ และการขยายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงก่อนหน้า เพื่อให้ไทยในการเป็นฐานหลักในการผลิตและกระจายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ทำให้คาดว่าในปี 2553 การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 6-11

ในด้านของตลาด ในปี 2553 การขยายตัวของการส่งออกยังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าในการฟื้นตัวและอัตราการว่างงานในประเทศอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปีก่อน การส่งออกไปตลาดหลักเหล่านี้หดตัวค่อนข้างสูง จึงคาดได้ว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้น่าจะกลับมาขยายตัว อีกด้าน การส่งออกไป จีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียอื่นๆ มีแนวโน้มอาจจะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดประเทศตะวันออกกลางอาจชะลอตัวต่อเนื่อง สาเหตุจากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ เช่น เครื่องปรับอากาศ ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกอย่างเหมาะสม โดยผู้ประกอบการสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังกับตลาดใหม่ที่เติบโตเร็ว เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งมีกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดี คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนระดับกลาง อาทิ โทรทัศน์ ตู้เย็น ไปจนถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากการเติบโตของชนชั้นกลาง และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเป็นที่ต้องการในครัวเรือนชนบทและในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น แบตเตอรี่ แผงโซลาร์ มอเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทิศทางการค้าและการลงทุนในอนาคตซึ่งผู้ประกอบการควรคำนึงถึงและมีการปรับตัวเพื่อรับมือ อาทิ การทำข้อตกลงเปิดเสรีของไทยกับต่างประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียน-จีน ซึ่งหมายถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้าน ผู้ประกอบการก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงโดยการขยายตลาดต่างประเทศและการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ในส่วนของเทรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการควรต้องตื่นตัวกับการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น มาตรฐานสินค้า ซึ่งประเทศคู่ค้าอาจมีการนำมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการควรหมั่นตรวจสอบข้อบังคับและมาตรฐานสินค้าในประเทศที่จะส่งออกอย่างถี่ถ้วน เทรนด์ของผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้และพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศได้ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภท Eco-design มากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม