Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มกราคม 2553

การค้า

FTA กรอบอาเซียน ช่วยดึงดูด FDI … ไทยเผชิญการแข่งขัน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2737)

คะแนนเฉลี่ย

การเปิดเสรีตามความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีอัตราภาษีสินค้าปกติลดลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคธุรกิจในอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปภายในกลุ่มด้วยต้นทุนที่ลดลง และเป็นการดึงดูด FDI ให้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยมากขึ้น เพื่อประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบในอาเซียนและสามารถส่งออกไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่เหลือ รวมทั้งประเทศนอกกลุ่มอาเซียนที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA ต่างๆ ซึ่งทำให้ตลาดส่งออกขยายกว้างขวางมากขึ้น

ส่วนความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนและจีนก็มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก โดยอัตราภาษีสินค้าปกติ สัดส่วนร้อยละ 90 ของสินค้าทั้งหมดมีภาษีเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 คาดว่าจะดึงดูดให้นักลงทุนจีนเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยมากขึ้นโดยอาศัยประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบภายในกลุ่มอาเซียนที่ภาษีเป็นร้อยละ 0 และผลิตส่งออกกลับไปจีนซึ่งมีความต้องการใช้ภายในแต่ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น การเข้ามาลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไทยและส่งออกกลับไปจีนจึงไม่เสียภาษี ขณะที่การนำเข้ายางพาราจากไทยเพื่อผลิตในจีนยังกำหนดภาษีในระดับสูง

อุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพและน่าจะได้รับผลดีจากการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าขั้นต้นและกึ่งวัตถุดิบ ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเกษตรของไทยต้องได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่เข้าสู่ตลาดไทยได้มากขึ้นเช่นกัน สำหรับผลดีจากการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าอาเซียนนั้น แม้ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีศักยภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยต้องเผชิญปัญหาภายในจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหามาบตาพุดที่ส่งผลให้บรรยากาศความน่าลงทุนของไทยลดลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะปัญหามาบตาพุดที่ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญที่ทางการไทยควรพิจารณาเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า