Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มกราคม 2553

การค้า

ส่งออกไปจีนเดือนธันวาคมพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ... แนวโน้มปี 2553 ขยายตัวดีขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2738)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 อัตราขยายตัวเร่งขึ้นสูงในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีเป็นร้อยละ 77 และร้อยละ 117 ตามลำดับ ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนทั้งปี 2552 สามารถฟื้นตัวจนมีอัตราติดลบเพียงร้อยละ 0.4 (YoY) เทียบกับครึ่งปีแรกที่หดตัวร้อยละ 18.2 สาเหตุสำคัญเนื่องจากตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออก และส่วนหนึ่งเป็นความต้องการภายในจีนที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่องอันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ส่งผลให้ภาคการบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกของไทยไปจีนปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2553 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2552 สูงกว่าที่ทางการจีนตั้งเป้าหมายไว้ โดยคาดว่าความต้องการบริโภคภายในจีนมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ตามแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่ายังไม่สามารถกลับมาขยายตัวระดับสูงดังเช่นก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับทางการจีนยังมีแนวโน้มกระตุ้นการบริโภคภายในต่อไปตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2551 ระยะเวลา 2 ปี จนถึงช่วงปลายปี 2553 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวได้อย่างไม่เต็มที่ รวมถึงอานิสงส์ของการลดภาษีของจีนในรายการสินค้าปกติเหลือร้อยละ 0 ภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-จีน ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้คาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 2553 อย่างไรก็ตาม

ปัจจัยท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ของจีนซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทางการจีนเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อต้านทานการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับราคาสินค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพได้ โดยคาดว่าทางการจีนคงจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นตามลำดับซึ่งรวมไปถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ขณะที่ประเด็นในด้านมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดของจีนเหล่านี้ แม้ว่าจะช่วยลดความร้อนแรงของภาวะฟองสบู่ในจีนแต่ก็อาจทำให้ความต้องการบริโภคและการลงทุนในจีนชะลอลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการนำเข้าของจีนอาจอ่อนแรงลงไปบ้าง กล่าวได้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2553 อาจต้องเผชิญแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตร้อยละ 9.7 ในปีนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าทางการจีนจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพียงใดในปีนี้ โดยประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก รวมทั้งการส่งออกไทยไปจีนด้วย ซึ่งภาคธุรกิจควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า