Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มกราคม 2553

อุตสาหกรรม

ธุรกิจบริการโทรคมนาคมปี 53 : ฟื้นตัว แต่ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2742)

คะแนนเฉลี่ย

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะทำให้ตลาดบริการโทรคมนาคมกลับมาขยายตัวได้ในปี 2553 สำหรับตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60-65 ของมูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมทั้งหมด คาดว่า ปริมาณการใช้งานน่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเสริม ที่น่าจะก้าวมามีส่วนสำคัญต่ออัตราการเติบโตรายได้ของผู้ให้บริการ การแข่งขันน่าจะทวีความรุนแรงขึ้น จากการเพิ่มบทบาทในเชิงธุรกิจของรัฐวิสาหกิจที่ต้องเร่งปรับตัวสร้างรายได้เพื่อมาทดแทนการสูญเสียส่วนแบ่งรายได้ ในอนาคต หากเอกชนได้รับใบอนุญาต 3G ความถี่ 2.1 GHz นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการ 3G ในลักษณะ MVNO ถึง 5 รายใหม่ ที่น่าจะเข้ามาช่วงชิงลูกค้าส่วนหนึ่ง ซึ่งบริการคงสิทธิเลขหมายที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนสิงหาคม น่าจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการเอกชนรายเดิมในตลาดอยู่บ้าง เนื่องจากประสิทธิภาพของการใช้งาน 3G ในแต่ละเครือข่ายมีความแตกต่างกัน

เช่นเดียวกับการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ถือว่าธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้สูง โดยกลยุทธ์น่าจะยังคงเน้นการแข่งขันด้านราคาและอัตราความเร็วในการใช้งาน รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคในต่างหวัด รวมถึงการร่วมมือกับธุรกิจอื่น เพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าองค์กร ในขณะที่เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารในยุคเก่าน่าจะค่อยๆลดบทบาทลง ทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ และโทรศัพท์พื้นฐาน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภคและหลายภาคธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสารมากขึ้น และปัจจัยหนุนจากราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่ และคอมพิวเตอร์ที่ถูกลง น่าจะทำให้ มูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมปี 2553 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 255,000-260,000 ล้านบาท พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ร้อยละ 3.2-5.3 จากปี 2552 ที่คาดว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 2.1 หรือมีมูลค่าประมาณไม่เกิน 247,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีปัจจัยกดดันตลาดยังคงเป็นการรอคอยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจต้องผ่านกระบวนการต่างๆของภาครัฐ ทั้งการตีความของกฤษฎีกาถึงอำนาจของกทช.ในการจัดสรรความถี่ และการจัดตั้ง กสทช. ที่จะมีอำนาจโดยตรงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม รวมถึงอีกหลายประเด็นที่ผู้ให้บริการยังต้องติดตาม เช่น แนวคิดการแปรสัมปทานก่อนการเปิดประมูล 3G การตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีต ที่อาจส่งผลต่อฐานะทางการเงินของผู้ให้บริการเอกชน รวมถึงการพิจารณาอนุมัติการขยายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่น่าจะส่งผลต่อภาวะการแข่งขันในตลาด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม