จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 ที่เริ่มมีความชัดเจนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้คาดว่าตลาดขนมเคี้ยวในปีนี้น่าจะกลับมามีบรรยากาศการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ซึ่งถือเป็นช่วง High Season ของตลาดขนมขบเคี้ยว ที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะต้องเร่งจำหน่ายสินค้าให้ได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการชดเชยกับมูลค่าตลาดที่หดตัวลงไปมากในปีที่ผ่านมา ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งจะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม 2553 และการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกทางช่องสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ก็จะเป็นสถานการณ์หนุนสำคัญที่จะทำให้การแข่งขันของตลาดขนมเคี้ยวในปี 2553 รุนแรงเกือบตลอดทั้งปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่ามูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นจาก 15,200 ล้านบาท ในปี 2552 เป็น 16,600 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9.3 โดยผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ ขนมขึ้นรูป มันฝรั่งทอดกรอบ เนื้อปลาและปลาสวรรค์ ถั่ว และสาหร่าย กลุ่มที่ขยายตัวปานกลาง คือ ข้าวเกรียบกุ้ง และปลาหมึก ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะมีแนวโน้มหดตัว คือ ข้าวอบกรอบ และข้าวโพด สำหรับทางด้านการส่งออกขนมขบเคี้ยวของไทยนั้น คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,875 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.6
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแข่งขันในระยะยาวนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างประชากรไทย ที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยการพัฒนาและปรับปรุงรสชาติขนมขบเคี้ยวให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มประชากรที่จะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กจะค่อยๆ ลดลง รวมทั้งเพิ่มสารอาหารและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวไปในกลุ่มขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ อาทิ ขนมขบเคี้ยวที่มีไขมันต่ำ ผักและผลไม้อบกรอบ ขณะที่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการโฆษณาสินค้าในเชิงสร้างสรรค์ ก็จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันต่อไปได้ในระยะยาว
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น