Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 กุมภาพันธ์ 2553

การค้า

การค้าไทยปี 53 ... นำเข้าขยายตัวแรง แต่คาดทั้งปีจะยังเกินดุลกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2765)

คะแนนเฉลี่ย

จากการรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม 2553 โดยกระทรวงพาณิชย์ พบว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวสูงร้อยละ 30.8 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมาถึงร้อยละ 44.8 ซึ่งอัตราการขยายตัวทั้งในด้านส่งออกและนำเข้านับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนมกราคมปีก่อน สำหรับดุลการค้าของไทยในเดือนมกราคมมีการเกินดุล 515 ล้านดอลลาร์ฯ สูงขึ้นจาก 277 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มในเดือนถัดๆ ไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกและนำเข้าอาจมีระดับมูลค่าที่ชะลอลงบ้างในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นวันหยุดยาวของธุรกิจในประเทศแถบเอเชียเชื้อสายจีน แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออก-นำเข้าของไทยน่าจะยังคงสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยเฉพาะการนำเข้าที่อาจเติบโตสูงถึงกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่ทิศทางโดยรวมในเดือนต่อๆ ไปน่าจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวอาจจะค่อยๆ ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งก็ยังคงมีสาเหตุจากฐานเปรียบเทียบที่เริ่มขยับสูงขึ้นหลังจากการค้าของไทยมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่ผ่านมา

สำหรับภาพรวมแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า :-

การส่งออกมีแนวโน้มดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้โดยจากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ เศรษฐกิจของหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงกว่าที่คาด

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ของประเทศจีน ซึ่งการออกมาตรการควบคุมสินเชื่อของทางการจีนอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ IMF คาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 10 นอกจากนี้ ปัญหาการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่มีระดับสูงจนน่าวิตกของหลายประเทศในยุโรป อาจจะส่งผลให้กลุ่มยูโรโซนขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2553 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 10.0-14.0 แต่มีโอกาสเพิ่มมุมมองเชิงบวกมากขึ้นหากปัจจัยที่เป็นกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคยุโรปคลี่คลายลง

การนำเข้ามีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น โดยมีผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อนหน้า การปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การนำเข้าของไทยในปี 2553 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 20.0-25.0

จากทิศทางการนำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่งสูงกว่าการส่งออก จะส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในปี 2553 มีฐานะเกินดุลลดลงจากปีก่อน แต่อาจกล่าวได้ว่ายังคงเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูงที่ประมาณ 6.6-9.3 พันล้านดอลลาร์ฯ (หรือประมาณ 2.2-3.0 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ ดุลการค้าที่ยังมีระดับเกินดุล สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาทิศทางค่าเงินของสหรัฐฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.75 จากเดิมที่ร้อยละ 0.50 ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของบางประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูง ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกและนำเข้าต้องติดตามและเตรียมรับมือ ที่สำคัญ ผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มที่ต้องแข่งขันในตลาดที่มีความอ่อนไหวด้านราคา อาจต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากนอกจากจะมีประเด็นความผันผวนของค่าเงินบาทแล้ว ยังมีกรณีที่คู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนามได้ลดค่าเงินด่องลงมาแล้ว 2 ครั้ง รวมแล้วประมาณเกือบร้อยละ 9 และยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะลดค่าเงินลงได้อีก ซึ่งเป็นผลให้สินค้าของเวียดนามมีความได้เปรียบด้านราคาส่งออกมากขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีการแข่งขันโดยตรงกับเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้ากลุ่มเกษตรกรรม เช่น ข้าว กุ้ง และสินค้ากลุ่มที่พึ่งพาแรงงาน เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า