Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มีนาคม 2553

การค้า

ส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงขยายต่อเนื่อง 19.3% แนวโน้มครึ่งปีแรกขยายตัวสูง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2788)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเติบโตร้อยละ 19.3(YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 15.9 ในเดือนมกราคม(YoY)เป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2551 คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกของปีจะขยายตัวสูงเนื่องจากฐานเปรียบเทียบในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯที่ขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการส่งออกทั้งหมดของไทยให้เติบโตดีขึ้นเนื่องจากสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.9 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2553 แม้ว่าสัดส่วนนี้ได้ปรับลดลงจากร้อยละ 12.6 ในปี 2550 ที่เป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้

กล่าวโดยสรุปได้ว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 19.3 ได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งฐานเปรียบเทียบการส่งออกในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในปี 2553 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกในอัตราเร่งค่อนข้างสูง เนื่องจากฐานเปรียบเทียบในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะมีการขยายตัวชะลอลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีเนื่องจากฐานเปรียบเทียบของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯในครึ่งหลังของปี 2552 ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เริ่มฟื้นตัวมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีทิศทางฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นจะเห็นได้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 ปี โดยขยายตัวร้อยละ 5.9(YoY)

แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตา ได้แก่ ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนของไทยต่อเหรียญสหรัฐฯที่มีแนวโน้มแข็งค่าอาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะหากอัตราการแข็งค่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อยู่ในระยะเริ่มแรกโดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ แต่ปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ระดับสูงประมาณร้อยละ 9 ตลอดปี 2553 ประกอบกับภาวะการขาดดุลการคลังที่ค่อนข้างสูง

อาจส่งผลให้สหรัฐฯอาจต้องทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตชะลอลงทำให้ภาคการบริโภคของสหรัฐฯอาจอ่อนแรงตามไปด้วย ซึ่งในที่สุดแล้วอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯให้ชะลอลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯยังอาจไม่สามารถฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า