Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 เมษายน 2553

อุตสาหกรรม

รถยนต์นั่งขนาดเล็ก...แรงกระตุ้นสำคัญต่อตลาดรถยนต์ในประเทศปี 53 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2797)

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 31 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 6 เมษายน ได้สิ้นสุดลง แม้ว่าในช่วงของการจัดงานจะตรงกับช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ ทว่ากลับไม่ส่งผลกระทบต่องานมอเตอร์โชว์ในครั้งนี้มากนัก โดยนอกเหนือจากจะประสบความสำเร็จกับตัวเลขยอดจองสูงถึง 27,878 คันในงานแล้ว ในปีนี้ตลาดยังให้ความสนใจกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นพิเศษ ซึ่งทิศทางการตอบรับที่ดีของตลาดต่อแนวทางการทำตลาดของค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยเฉพาะการโหมเปิดตัวรถยนต์นั่งขนาดเล็กรุ่นต่างๆนี้ ประกอบกับปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ การปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตร การเปิดเสรีการค้า รวมถึงการแข่งขันกันระหว่างบริษัทสินเชื่อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคลดต่ำลง ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดรถยนต์ในประเทศตลอดทั้งปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของรถยนต์นั่งขนาดเล็กคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดตลอดทั้งปี

โดยสาเหตุที่ตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กได้รับการตอบรับที่ดีกว่าตลาดรถประเภทอื่น ได้แก่ ความประหยัดพลังงานในยุคที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนและมีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้น ความสามารถในการครอบครองรถยนต์ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสูงขึ้น ซึ่งในบางรุ่นมีราคาจำหน่ายที่ถูกลงค่อนข้างมาก ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นของบริษัทผู้ให้สินเชื่อสำหรับเช่าซื้อรถยนต์ทำให้ต้นทุนในการกู้ลดลง คุณสมบัติของรถยนต์ขนาดเล็กที่จูงใจมากขึ้น โดยค่ายรถต่างๆได้พยายามออกแบบและพัฒนารถไม่ให้มีขนาดเล็กจนเกินไป ประกอบกับสมรรถนะที่เหมาะสมและสามารถยอมรับได้ เมื่อเทียบกับความประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่ายและวัตถุประสงค์หลักในการใช้งานของกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้การทำตลาดของค่ายรถที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะการเลือกใช้พรีเซนเตอร์ และการออกแบบรูปลักษณะของรถยนต์ เช่น โครงรถ และสีรถ ที่ตรงกับความชื่นชอบของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น

อนึ่ง พฤติกรรมในการซื้อรถของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไปหารถยนต์นั่งขนาดเล็กมากขึ้น ย่อมจะส่งผลต่อทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงต่อจากนี้ไป ทั้งการปรับแนวทางการทำตลาดของค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยมุ่งทำตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กมากขึ้น การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดรถยนต์ เนื่องจากรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่เข้ามาทำตลาดใหม่นี้ สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายตลาด ทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็นฐานตลาดใหม่ และกลุ่มเป้าหมายเดิม ประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์มือสอง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ เป็นต้น เพื่อรองรับกับการขยายตัวของตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกขณะ

จากปัจจัยบวกต่างๆคาดว่าจะส่งผลทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 นี้สามารถขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดรถยนต์ในประเทศจะยังคงมีปัจจัยสนับสนุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากความเสี่ยงทางการเมืองยังคงมีอยู่มาก ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง โดยในกรณีเลวร้ายที่สุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดทั้งปี 2553 นี้ ขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 16 ถึง 20 โดยตลาดรถเพื่อการพาณิชย์คาดว่าจะเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวมากกว่าตลาดรถยนต์นั่ง ส่วนอีกกรณีที่ปัญหาการเมืองสามารถคลี่คลายไปได้ คาดว่าตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยอาจจะสามารถขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 21 ถึง 25 อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะตลาดจะได้รับผลกระทบในทางใดก็แล้วแต่ คาดว่าตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กน่าจะสามารถมีสัดส่วนในตลาดรถยนต์นั่งทั้งหมดได้ที่กว่าร้อยละ 45 ถึง 50

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม