Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 เมษายน 2553

การค้า

ส่งออกไปจีนไตรมาสแรกขยายตัว 70% ... แรงหนุนการส่งออกรวมของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2809)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนในในไตรมาสที่ 1/2553 ขยายตัวสูงในอัตราร้อยละ 70 (YoY) ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่ำที่สุดในไตรมาสที่ 1/2552 โดยการส่งออกไปจีนเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 48.8 (YoY) แต่อัตราเติบโตชะลอลงจากร้อยละ 75 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 94 ในเดือนมกราคม (YoY) เนื่องจากการส่งออกในปี 2552 ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือนมกราคม ทั้งนี้ หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า การส่งออกในเดือนมีนาคมปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ร้อยละ 11 (MoM) คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแรงสนับสนุนให้เติบโตต่อไปได้ตามการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนและอานิสงส์การลดภาษีสินค้าปกติเหลือร้อยละ 0 ตามความตกลง FTA อาเซียน-จีน ตั้งแต่ต้นปีนี้ที่จะช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้ดีขึ้น

โดยการส่งออกของไทยไปจีนในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 25 เทียบกับปีที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ 0.4 โดยอัตราขยายตัวอาจชะลอลงในไตรมาสถัดๆ ไป เนื่องจากฐานเปรียบเทียบในปี 2552 ที่ปรับสูงขึ้นในไตรมาสท้ายๆ และน้ำหนักความสำคัญของการส่งออกของไทยไปจีนที่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการส่งออกไปจีนที่สูงขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกโดยรวมของไทยปรับตัวได้ดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาวะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอื่นๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ภาคการบริโภค การลงทุน และภาคท่องเที่ยว

ปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยไปจีนในปีนี้ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังที่ขับเคลื่อนการบริโภคและการลงทุนของจีน ทำให้จีนยังความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางการจีนจะใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน โดยทางการจีนอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 ซึ่งอาจจะทำให้การบริโภคและการลงทุนอ่อนแรงลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการชะลอตัวของความต้องการภายในจีนจะไม่มากนัก ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีนจึงค่อนข้างจำกัด

ขณะที่ภาคส่งออกของจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/ขั้นกลางจากไทย แม้อัตราการเติบโตของการส่งออกของจีนอาจถูกจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักอย่างกลุ่มจี 3 ที่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการว่างงาน และหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพียังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ในปีนี้

นอกจากนี้ สินค้าส่งออกจีนยังต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า (NTBs) จากประเทศคู่ค้าสำคัญๆ หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อีกทั้งแนวโน้มการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป จะทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีข้อได้เปรียบด้านราคาที่ลดลงในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทางการจีนคงปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีระดับแข็งค่าไม่มากนัก โดยอัตราการแข็งค่าของเงินหยวนในปีนี้น่าจะยังคงต่ำกว่าการแข็งค่าของเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียที่ปรับแข็งค่ามาตั้งแต่ต้นปีนี้ จึงไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในภาพรวม ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าไทยเพื่อผลิตส่งออกไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเช่นกัน โดยคาดว่าสินค้าส่งออกสำคัญๆ ของไทยไปจีนที่จะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ที่สำคัญ ได้แก่ เป็นคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า