Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤษภาคม 2553

การค้า

ส่งออกไปจีนเดือนเมษายนเติบโตชะลอลงเหลือ 28% ... มูลค่าส่งออกต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2831)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนเมษายนชะลอลงเหลือร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันปี 2552 (YoY) และหดตัวร้อยละ 14 จากเดือนมีนาคมก่อนหน้า (MoM) โดยมูลค่าส่งออกไปจีนในเดือนเมษายนนี้ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนเพื่อชะลอการปล่อยสินเชื่อ โดยการปรับขึ้นเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) เป็นครั้งที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม นับจากต้นปีนี้ รวมถึงการใช้นโยบายเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อควบคุมภาวะฟองสบู่ ซึ่งมาตรการทั้งสองด้าน เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองในเดือนเมษายนขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนอ่อนแรงลงไปด้วย โดยการส่งออกสำคัญของไทยไปจีนหลายรายการเติบโตอ่อนแรงลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์/ชิ้นส่วน ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม จีนยังถือเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงที่ในเดือนเมษายน และในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.3 ของการส่งออกรวมของไทย รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 10) และสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 9.7) ตามลำดับ

ปัจจัยท้าทายการส่งออกไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนอย่างสหรัฐฯ ประกอบกับแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และมาตรการคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อบรรเทาภาวะฟองสบู่ อาจทำให้การบริโภคและการลงทุนในจีนชะลอลง ทำให้ความต้องการนำเข้าของจีนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย อาจต้องอ่อนแรงลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังริมทรัพย์ยังคงเป็นปัญหาความสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปที่หลายประเทศอย่างกรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี ยังคงประสบปัญหาวิกฤตหนี้สิน

เนื่องจากภาวะขาดดุลการคลังต่อจีดีพีและหนี้สาธารณะในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างเชื่องช้า การส่งออกของจีนไปยุโรปในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจขยายตัวไม่สูงนัก ทำให้คาดว่าทางการจีนอาจระมัดระวังมากขึ้นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน คาดว่าทางการจีนอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนอาจมีแนวโน้มขยายตัวอ่อนแรงลงไปด้วยในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไปจีนในปีนี้อาจเติบโตร้อยละ 18-25 ชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวพุ่งขึ้นร้อยละ 70 ในไตรมาสแรก (YoY)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า