อินเดียถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจ เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจอินเดียอย่างต่อเนื่องในปีนี้น่าจะช่วยให้การส่งออกจากไทยไปอินเดียสามารถขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ และที่สำคัญผู้ส่งออกไทยที่ต้องการเจาะตลาดอินเดียสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้ว คือ FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) และFTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) โดยการลดภาษีภายใต้ TIFTA ช่วยให้ไทยเปลี่ยนฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอด ขณะที่การลดภาษีในกรอบ AIFTA ที่ครอบคลุมจำนวนสินค้ามากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อินเดียยังไม่ได้เปิดตลาดให้กับไทยใน TIFTA รวมถึงแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมที่ยืดหยุ่นของของ AIFTA ทำให้สินค้าไทยหลายรายการมีโอกาสเข้าสู่ตลาดอินเดียมากขึ้นอาทิผลไม้แปรรูป ปลากระป๋อง เครื่องปรุงรส พลาสติก อัญมณี อิเล็กทรอนิกส์ อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์ อะไหล่ยนต์ เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่อินเดียบรรจุไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยไม่ลดภาษีหรือเป็นสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันต่ำอยู่แล้วเช่น ไหม น้ำมันปาล์ม ชา กาแฟ พริกไทย เป็นต้น ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวสูงของอินเดียบางรายการที่ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันสูงอย่าง น้ำยาง ยางแผ่นรมควัน ยางรถยนต์บางชนิด มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งอินเดียได้ชดเชยการเสียผลประโยชน์ให้กับไทยโดยเพิ่มจำนวนสินค้าอ่อนไหวของไทยเป็น 91 รายการจากอาเซียนอื่นที่มีได้ไม่เกิน 50 รายการ
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AIFTA อาจทำให้สินค้าไทยต้องแข่งขันกับสินค้าของอาเซียนอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของของอินเดียในอาเซียนและมี FTA กับอินเดียทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบอาเซียนเช่นเดียวกับไทย ส่วนอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขณะนี้อาจจะเป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัวนักสำหรับสินค้าไทย เพราะสินค้าส่งออกหลักอย่างน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มสกัด ไทยมีศักยภาพต่ำอยู่แล้วและอยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหวสูงของอินเดีย แต่หาก มาเลเซียและอินโดนีเซียเปิด FTA ทวิภาคีกับอินเดียอาจทำให้สินค้าไทยแข่งขันมากขึ้น แม้ว่ากัมพูชา ลาวและเวียดนาม จะมีมูลค่าการค้ากับอินเดียไม่มากนัก แต่มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง หากอินเดียลดภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น