Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มิถุนายน 2553

เกษตรกรรม

ฟุตบอลโลก 2010 : สร้างโอกาสส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงไทยไปแอฟริกาใต้ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2845)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน –11กรกฏาคมนี้ น่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคธุรกิจในแอฟริกาใต้คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจขายอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม และภัตตาคารต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยก็จัดว่ามีคุณภาพ และสะอาดปลอดภัย น่าจะเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้บริโภคในแอฟริกาใต้และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ จึงนับเป็นโอกาสที่ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยจะขยายตลาดส่งออกสู่แอฟริกาใต้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันแอฟริกาใต้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและปรุงแต่งจากไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งอยู่แล้ว รวมทั้งมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปเบื้องต้น ทั้งในรูปสด/แช่เย็น/แช่แข็ง/ใส่เกลือ/ในน้ำเกลือ จากไทยขยายตัวถึงร้อยละ 121.0 เทียบจากช่วง 4 เดือนแรกของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในผลิตภัณฑ์ประเภทกุ้ง ปู หอย ในสัดส่วนร้อยละ 97.6

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านการนำเข้าของแอฟริกาใต้ ช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 มีการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและปรุงแต่ง จากไทยเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 24.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาร้อยละ 97.5 และ กุ้ง ปู หอย ร้อยละ 2.5 โดยมีมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 18.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่แอฟริกาใต้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋องจากไทยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้หันไปนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทน โดยเฉพาะจากจีน จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามและเร่งปรับตัว โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทั้งด้านคุณภาพ รสชาติ ด้วยมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับ เพื่อปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของไทยในตลาดโลก เพื่อหลีกเลี่ยงจากการแข่งขันในด้านราคา เพราะปัจจุบันผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ ได้เริ่มหันมาใส่ใจในคุณประโยชน์ และตระหนักในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้นเช่นเดียวกับผู้บริโภคทั่วโลก

ดังนั้น ตลาดแอฟริกาใต้จึงเป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผลิตภัณฑ์ประมงของไทย หากผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน และหันไปเจาะตลาดในแอฟริกาใต้มากขึ้น ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยเติบโตได้ในตลาดแอฟริกาใต้ รวมทั้งยังเป็นช่องทางขยายตลาดสู่ประเทศใกล้เคียงในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาในด้านการขนส่ง รวมทั้งมีการรวมกลุ่มทางการค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อการเสียภาษีระหว่างกันในอัตราที่ต่ำด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม