Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มิถุนายน 2553

เกษตรกรรม

ส่งออกกุ้งไทยครึ่งหลังปี’53 แนวโน้มสดใส…คาดหนุนการส่งออกทั้งปีโตร้อยละ 25 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2847)

คะแนนเฉลี่ย

“กุ้ง” ไม่ได้ถูกจัดเป็นอาหารหลักสำหรับการบริโภค แต่ถือเป็นอาหารที่บริโภคเพื่อความพึงพอใจ อีกทั้ง ยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นในปริมาณเท่าๆกัน และส่วนใหญ่ก็นิยมบริโภคในโอกาสพิเศษ ดังนั้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปริมาณการบริโภคกุ้งก็จะชะลอตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตามในปี 2553 ที่มีแนวโน้มความต้องการนำเข้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยในด้านผลผลิตกุ้งทั่วโลกปีนี้ที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลง ยิ่งเป็นการส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งอันดับหนึ่งของโลก ด้วยปริมาณการส่งออก 220,453.7 ตัน ในปี 2552 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.9 ของปริมาณการส่งออกทั้งโลกที่มีปริมาณ 1,591,704 ตัน ส่วนผู้ส่งออกในอันดับรองลงมา ได้แก่ จีน(ร้อยละ 9.7) อินเดีย(ร้อยละ 8.1) เอกวาดอร์(ร้อยละ 8.0) อินโดนีเซีย(ร้อยละ 6.9) และเดนมาร์ก(ร้อยละ 6.5) ตามลำดับ

จากปัญญาที่สหรัฐฯกำลังเผชิญกับการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโกตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมได้ คาดว่ามีปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันถึงวันละประมาณ 20,000-40,000 บาร์เรล (หรือ 840,000-1.7 ล้านแกลลอน หรือ 3.2-6.4 ล้านลิตร) โดยปริมาณสะสมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาอาจมีมากกว่า 1.76 ล้านบาร์เรล และแผ่กระจายครอบคลุมพื้นที่ผิวน้ำในอ่าวเม็กซิโกไปแล้วมากกว่า 200,000 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้ทางการสหรัฐฯต้องสั่งปิดน่านน้ำและห้ามทำการประมงในเขตพื้นที่ดังกล่าวไปประมาณ 1 ใน 3 ของอ่าว จึงเป็นการส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมกุ้งของสหรัฐฯ เนื่องจากบริเวณอ่าวเม็กซิโกเป็นแหล่งผลิตกุ้งที่สำคัญ อีกทั้ง ช่วงที่เริ่มมีการรั่วไหลยังเป็นช่วงเริ่มฤดูกาลจับกุ้งของสหรัฐฯด้วย

จากตัวเลขการส่งออกกุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง/กระป๋องและปรุงแต่งของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 807.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.9 ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ(ร้อยละ 42.0) ญี่ปุ่น(ร้อยละ 22.2) แคนาดา(ร้อยละ 5.7) อังกฤษ(ร้อยละ 3.5) และเยอรมนี(ร้อยละ 3.4) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกในตลาดหลัก 5 อันดับรวมกัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.8 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทย และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.4 เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสามารถแยกเป็นการส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งในสัดส่วนร้อยละ 51.0 และกุ้งกระป๋องและปรุงแต่งร้อยละ 49.0

ด้านการส่งออกไปสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดหลักอันดับหนึ่งของผลิตภัณฑ์กุ้งไทย(ครองสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 42.0) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 339.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 16.0 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแยกเป็นมูลค่าการส่งออกกุ้งแช่เย็นและ แช่แข็ง 145.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และส่งออกในรูปกุ้งกระป๋องและปรุงแต่งเป็นมูลค่า 193.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

จึงเป็นที่คาดว่าสหรัฐฯจะยังคงขาดแคลนอาหารทะเลไปอีกในระยะ 6 เดือนข้างหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าอุตสาหกรรมกุ้งของไทยจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยต่างๆดังกล่าวประกอบกัน ทำให้มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 25 หรืออาจสูงกว่านั้นหากมีปัจจัยทางด้านราคาเป็นตัวช่วยหนุนให้มูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม