Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กรกฎาคม 2553

อุตสาหกรรม

ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าครึ่งปีหลัง … AFTA/FTA ยังหนุน แม้ภาวะตลาดอาจชะลอตัว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2888)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 38.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ13.4 ในปี 2552 โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 37.2 และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 40.5 การเติบโตสูงดังกล่าว นอกจากเป็นผลของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากการขยายโอกาสทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี ที่มีส่วนผลักดันการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทของไทย ในรายการที่ได้ประโยชน์จากการยกเลิกหรือลดอัตราภาษีดังกล่าว รวมทั้งยังมีผลในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาขยายฐานการผลิตสินค้ากลุ่มนี้ในประเทศไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การขยายการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกในประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งบางโครงการน่าจะเริ่มต้นส่งออกได้ภายในปีนี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 แม้จะต้องเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลให้การส่งออกมีทิศทางชะลอตัวกว่าในครึ่งปีแรกค่อนข้างมาก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ตลอดทั้งปีไว้ที่ประมาณร้อยละ 17-22 ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอาจขยายตัวร้อยละ 22-27

แม้ว่า FTA มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดของประเทศที่มีความตกลงกับไทย แต่ผลในอีกด้านหนึ่ง FTA ก็เปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศที่มีความตกลงกับไทย เข้ามาแข่งขันในตลาดภายในประเทศได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยภาพรวม ไทยขาดดุลการค้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่ประเทศคู่เจรจา FTA แม้การค้ารวมของสินค้ากลุ่มนี้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไทยยังมีการเกินดุลก็ตาม

ก้าวต่อไปของ FTA ในอนาคต จะยิ่งเพิ่มทั้งโอกาสและการแข่งขันทางธุรกิจภายหลังจากที่การเปิดเสรีจะเพิ่มความครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในกรอบอาเซียนที่จะมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 และ FTA กรอบอื่นๆ ที่จะมีการลดภาษีเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอ่อนไหว อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะข้างหน้า อาทิ การรักษาความเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งถึงแม้ว่าไทยมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แต่ปัจจุบันไทยค่อนข้างเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนแรงงานต่ำ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ขณะที่ระบบโครงสร้างภาษีศุลกากรของไทยที่บางกรณียังไม่สอดคล้องกันระหว่างสินค้าต้นน้ำและปลายน้ำ ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนหันเหการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองของไทยก็ส่งผลในเชิงลบต่อความรู้สึกเชื่อมั่นของนักลงทุน

ต้องยอมรับว่า แนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ยังคงต้องอาศัยการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิสก์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามาโดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหากบริษัทต่างชาติลดความสนใจในการลงทุนในไทยลง อาจส่งผลต่อโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งย่อมรวมไปถึงการส่งออกที่อาจจะลดลงตามการลงทุนจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นบริษัทไทยซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมต้นน้ำของบริษัทต่างชาติ แนวนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเป็นเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต โดยการสร้างความน่าดึงดูดให้แก่ประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนนั้น จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ ทั้งในด้านสิทธิประโยชน์จูงใจต่างๆ แก่นักลงทุน การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่นักลงทุนให้ความกังวล เช่น การปรับโครงสร้างภาษีให้มีความสอดคล้องระหว่างสินค้าต้นน้ำและปลายน้ำ การปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วในปัจจุบัน การพัฒนาทักษะและผลิตภาพของแรงงานซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ทางหนึ่ง และรวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม