Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กรกฎาคม 2553

เกษตรกรรม

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง : อานิสงส์ FTA ส่งออกพุ่ง...รัฐเร่งระบายสต็อก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2889)

คะแนนเฉลี่ย

ปี 2553-2554 นับว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง และปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเฉพาะจากตลาดจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทุกระดับตลาด ตั้งแต่ราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ ไปจนถึงราคาส่งออกเอฟโอบีมันเส้น และแป้งมัน มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การขาดแคลนมันสำปะหลังเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

แนวทางการแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขาดแคลน

- การระบายสต็อกของรัฐบาล รัฐบาลมีสต็อกมันเส้น 1.2 ล้านตัน ทางคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติ มีมติที่จะแบ่งระบายมันเส้น 200,000 ตัน ผ่านการประมูลในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 900,000 ตัน ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาแนวทางการระบายระหว่างการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป โดยให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเข้าร่วมประมูลได้ หรือ ให้เสนอราคาซื้อมันเส้นเป็นรายสัปดาห์ เหมือนกับที่เคยดำเนินการระบายมันเส้นในช่วงต้นปี 2553

ปัญหาที่น่ากังวลคือ อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากสต็อกแป้งมันสำปะหลังของรัฐบาล 140,000 ตันนั้น รัฐบาลขายให้กับ China Marine Shipping Agency Lianyungang Co.Ltd. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนไปแล้ว ในราคา 10.67 บาท/กิโลกรัม ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอส่งมอบ ซึ่งถ้าการส่งมอบตามสัญญาก็ควรนำแป้งมันส่วนนี้มาเปิดประมูลใหม่

- การนำเข้า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ไทยนำเข้ามันเม็ดมันเส้น 33,119 ตัน มูลค่า 2.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 51.2 และร้อยละ 28.6 (y-o-y) เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาการแย่งวัตถุดิบกับเวียดนาม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การนำเข้าหดตัว ตั้งแต่ไทยเริ่มนำเข้ามันเม็ดมันเส้นในปี 2550 ซึ่งทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในระยะยาว คือ

- ผลของกรอบ FTA ต่างๆ ซึ่งมีการลด/ยกเลิกภาษีมันเม็ดมันเส้น และแป้งมันสำปะหลังภายใต้กรอบ FTA ต่างๆ คาดว่าส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีน และอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และมาเลเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดที่น่าสนใจ คือ ตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กล่าวคือ เกาหลีใต้ลดภาษีแป้งมันเป็นร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2553 ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังภาษีร้อยละ 9 เฉพาะในโควตา 9,600 ตัน/ปี ส่วนตลาดญี่ปุ่นภาษีแป้งมันร้อยละ 0-8.7 ลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2561 ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังคงอัตราไว้ที่ร้อยละ 15

-ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมเอทานอล ปัจจุบันราคากากน้ำตาล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอทานอล ราคาแพงและมีแนวโน้มขาดแคลน ส่งผลให้โรงงานผลิตเอทานอลปรับตัวหาวัตถุดิบทดแทน ซึ่งวัตถุดิบที่เหมาะสมคือ มันเส้น และ/หรือแป้งมัน รวมทั้งโรงงานเอทานอลที่เปิดดำเนินการใหม่ก็ใช้มันเส้น และ/หรือแป้งมันเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นความต้องการมันเส้นและแป้งมันในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม