Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กรกฎาคม 2553

เกษตรกรรม

สินค้าเกษตรและอาหาร : ผลผลิตลด...ส่งออกพุ่ง อานิสงส์ FTA (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2224)

คะแนนเฉลี่ย

ในปี 2553 แม้ว่าการผลิตสินค้าเกษตรต้องเผชิญกับปัญหาแมลงศัตรูระบาด และปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง โดยเฉพาะผลผลิตที่ปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือในช่วงไตรมาสสอง อย่างไรก็ตาม มาตรการประกันรายได้เกษตรกรสำหรับสินค้าข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เกษตรกรขยายการผลิต ในขณะที่การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 พุ่งสูงขึ้น จากปัจจัยหนุนคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอานิสงส์จาก FTA กรอบต่างๆ จากปัจจัยหนุนดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สินค้าเกษตรที่ยังคงมีปัญหาเพียงสินค้าเดียว คือ ข้าว เนื่องจากเผชิญภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนาม ทำให้ปริมาณการส่งออกชะลอตัว และราคายังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2553 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังคงขยายตัว และอานิสงส์จาก FTA กรอบต่างๆที่ยังส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น18,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 (y-o-y) โดยประเทศคู่ค้าสำคัญคือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ อาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

ผลของการปรับลดภาษีในกรอบ FTA ต่างๆ มีส่วนผลักดันให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเป็นคู่เจรจา FTA กล่าวคือ การส่งออกสินค้ากสิกรรม(สินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้น)ไปยังจีน และอาเซียน เพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้ากสิกรรมในช่วงครึ่งแรกปี 2553 โดยเฉพาะยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.5 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.7(y-o-y) หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1,513 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าแปรรูป (สินค้าประมง ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมเกษตร) ไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ผักผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าว โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2,258 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.8(y-o-y)

ในด้านการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหรือวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ไทยจะมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค คือ นำเข้าวัตถุดิบมาผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งออกกลับไปยังอาเซียน และประเทศอื่นๆ เนื่องจากไทยมีมาตรฐานการผลิต และสุขอนามัยในการผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปจากอาเซียนในช่วงครึ่งแรกปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 611 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4

เมื่อเปรียบเทียบดุลการค้าในกรอบ FTA ต่างๆ ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 แล้วพบว่าไทยได้ดุลการค้ากับประเทศคู่เจรจา ยกเว้นกับนิวซีแลนด์ที่ไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม โดยประเทศคู่เจรจาที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร คือ อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งในช่วงครี่งแรกปี 2553 ไทยได้ดุลการค้า 2,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ

ประเด็นที่ยังต้องติดตามภายหลังการเปิด FTA กรอบต่างๆ ก็คือ การเปิดเสรีเกษตรและอาหารในปัจจุบัน อุปสรรคด้านภาษีไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากประเทศคู่เจรจาลดอัตราภาษีสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำแล้ว แต่อุปสรรคสำคัญที่ประเทศคู่เจรจานำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ มาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร (Non-Tariff Barrier Measures : NTMs) ทั้งมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศโดยทั่วไป (Technical Barriers to Trade : TBT ) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่อาจมีความสามารถในการรับมือได้มากกว่าธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ ในระยะยาวไทยต้องเตรียมรับมือกับข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับมาตรการมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่อากรทางศุลกากร ซึ่งปัจจุบันอาเซียนกำลังมีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา NTMs ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการของไทยสามารถปรับตัว โดยสามารถผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรการ TBT/SPS ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และหากทำได้ตามแหล่งกำเนิดของสินค้าก็น่าจะได้สิทธิประโยชน์จาก FTA กรอบต่างๆ

โจทย์ใหญ่ที่ทางภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ คือ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนทางด้านการขนส่ง เสริมสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน รวมถึงการให้ความรู้และความเข้าใจต่อเกษตรกรในการปรับตัวในกรอบ FTA โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันภายใต้กรอบ FTA ทั้งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการส่งเสริมทั้งทางด้านทรัพยากร และการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยปรับประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับมาตรฐานการผลิต เตรียมพร้อมรับการแข่งขันในตลาดโลก และรับมือกับสินค้านำเข้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม