Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 สิงหาคม 2553

การค้า

ส่งออกไปรัสเซียครึ่งแรกปี 2553 พุ่งสูงร้อยละ 64.1 ... สินค้าเกษตรและอาหารของไทยยังมีโอกาสเติบโต (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2899)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปรัสเซียในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวพุ่งสูงถึงร้อยละ 64.1(YoY) ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 2552 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรัสเซียในปีนี้ที่กลับมาเติบโตร้อยละ 5.4 ในไตรมาส 2/2553 และร้อยละ 2.9 ในไตรมาส 1/2553 หลังจากที่ประสบภาวะหดตัวร้อยละ 7.9 ในปี 2552 ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียไม่สูงนักคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปต่างประเทศ แต่แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องรวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐบาลไทยที่เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซีย ทั้งยังตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียในปีนี้ให้ขยายตัวร้อยละ 10-20 ซึ่งแรงขับเคลื่อนต่างๆดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทยที่ได้มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามความต้องการนำเข้าของรัสเซียที่มีแนวโน้มเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียที่คาดว่ายังเติบโตได้ต่อเนื่องใน 2 ไตรมาสสุดท้าย แม้ว่าอัตราเติบโตมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาส 2/2553 ขณะที่รัฐบาลรัสเซียคาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 4.0

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารของไทยไปรัสเซียมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดีเนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตทั้งยังเป็นที่ต้องการบริโภคในตลาดรัสเซีย แต่อย่างไรก็ตามสินค้าอื่นๆของไทยก็มีโอกาสขยายตัวอีกมาก เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีโอกาสขยายตัวโดยเฉพาะผลไม้สด(สับปะรด ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะละกอ มะพร้าว) ผักและผลไม้แปรรูป/กระป๋อง(ข้าวโพดหวานกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง) กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ข้าว น้ำตาล และอาหารสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามอุปสรรคหลายด้านที่ควรระวัง ได้แก่ พฤติกรรมการบริโภคของรัสเซียมีลักษณะคล้ายยุโรปโดยนิยมบริโภคผักและผลไม้เมืองหนาว และอาหารแบบตะวันตก ในขณะที่สินค้าไทยเป็นสินค้าเมืองร้อน รวมทั้งต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปรัสเซียค่อนข้างสูงจากระยะทางที่ห่างไกล การขนส่งสินค้าอาหารจำพวกผักและผลไม้สดแม้จะมีโอกาสแต่ก็มีต้นทุนการด้านการเก็บรักษาความสดทำให้ราคาสินค้าอาหารไทยโดยเฉพาะผักและผลไม้ไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพืชผลเมืองหนาว นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคจากมาตรการที่มิใช่ภาษีซึ่งการนำเข้าสินค้าอาหารและเกษตรไปขายในรัสเซียโดยเฉพาะข้าวและสินค้าประมงต้องผ่านการตรวจสอบได้รับหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัสเซียและไทย(กรมวิชาการเกษตร, กรมประมง) จึงจะสามารถนำเข้าไปขายในรัสเซียได้

ข้อเสนอแนะ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดรัสเซียที่นักธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม ได้แก่ เจาะตลาดที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้าไทย ได้แก่ กรุงมอสโกและเซนต์ปีเตอร์เบิร์กที่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งมีประชากรร้อยละ 10.6 ของประเทศหรือประมาณ 15 ล้านคน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษ/ข้อตกลงทางการค้าของรัสเซียเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกของไทยไปรัสเซีย เช่น สิทธิ GSP ของรัสเซียและรัฐอิสระ CIS เพื่อลดอุปสรรคทางภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยมีความสามารถในการผลิตในขณะที่มีอัตราภาษีสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 0-456 สูงกว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่มีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0-218 นอกจากนี้การแปรรูปสินค้าสินค้าเกษตร/สินค้าอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคในรัสเซียนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการเก็บรักษาแล้ว ยังลดอุปสรรคในอุปสรรคทางภาษีได้อีกทางหนึ่ง แต่สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมควรส่งออกสินค้าจำพวกวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หรือสินค้าทุนเพื่อป้อนผู้ผลิตในรัสเซียซึ่งจะได้ประโยชน์ทางภาษีในระดับที่ต่ำกว่าสินค้าสำเร็จรูป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า