Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 สิงหาคม 2553

เกษตรกรรม

ข้าวปี 2553 : จับตากรอบอาฟตา...ส่งออกยังชะลอตัว ผลกระทบต้องรอมาตรการนำเข้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2903)

คะแนนเฉลี่ย

ในบรรดาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าข้าวนับว่าเป็นสินค้าที่น่ากังวล เนื่องจากในบรรดากรอบ FTA ต่างๆ นั้น มีเพียงกรอบอาฟตาเท่านั้นที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าข้าวของไทย สาเหตุเพราะประเทศคู่เจรจากรอบ FTA อื่นๆนั้น ไม่ได้เปิดตลาดข้าว ซึ่งหมายถึงสินค้าข้าวไม่ได้อยู่ในบัญชีสินค้าที่ต้องลดภาษี ได้แก่ อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ญี่ปุ่น ส่วนอาเซียน-จีนนั้น ข้าวอยู่ในบัญชีอ่อนไหวสูง ซึ่งหมายถึงจะมีการทยอยลดภาษีนำเข้าลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2558 และอาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์นั้น อัตราภาษีนำเข้าข้าวเป็นร้อยละ 0 อยู่แล้วก่อนการเจรจาFTA และการส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดออสเตรเลียมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.0 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย

ผลกระทบจากกรอบอาฟตาสำหรับสินค้าข้าว ต้องแยกพิจารณาทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้า รวมทั้งยังต้องแยกประเทศอาเซียนเดิม 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และบรูไน และอาเซียนใหม่ 4 ประเทศที่ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามหรือที่เรียกกันย่อๆว่า CLMV

ประเด็นที่ยังต้องพิจารณาสำหรับสินค้าข้าวจากกรอบFTA ต่างๆ มีดังนี้

-การลักลอบการนำเข้าข้าวเปลือกตามแนวชายแดน ในปัจจุบันรัฐบาลใช้มาตรการบริหารจัดการการนำเข้า โดยมีข้อเสนอให้นำเข้าเฉพาะปลายข้าวเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยการนำเข้ากำหนดให้นำเข้าเฉพาะบางด่าน ซึ่งมีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมสำหรับการตรวจสอบโรคและแมลงตกค้าง สารเคมีปนเปื้อน และการตรวจสอบข้าวจีเอ็มโอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับข้าวไทย และนำเข้าได้ในบางช่วงเวลา เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบต่อราคาข้าวของไทย ทำให้ยังคงมีการลักลอบนำเข้าข้าวเปลือกตามแนวชายแดนเนื่องจากราคาที่มีความแตกต่างกันมาก

กรมการค้าต่างประเทศมีแนวคิดที่จะอนุญาตให้นำเข้าข้าวเปลือกมาจากประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างถูกต้อง แต่จะกำหนดพื้นที่และช่วงเวลาในการนำเข้าเพื่อควบคุมการนำเข้า ไม่ให้กระทบกับราคาข้าวเปลือกในประเทศ โดยจะให้โรงสีข้าวที่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดสามารถสีแปรเป็นข้าวสารและบรรจุถุงเพื่อการส่งออกเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้โรงสีข้าวของไทยถือว่ามีศักยภาพสูงในการสีข้าว และมีกำลังการผลิตล้นเกินจำนวนข้าวเปลือกที่มีอยู่ในประเทศ โดยมีกำลังการผลิตถึงร้อยละ 70 แต่มีการใช้กำลังการผลิตจริงเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น สำหรับแนวคิดนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการสามารถใช้กำลังการผลิตสีข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น กัมพูชาก็มีผลผลิตข้าวจำนวนมาก แต่มีโรงสีข้าวไม่เพียงพอ ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

-จัดตั้งบริษัทข้าวแห่งเอเชีย แนวคิดในการร่วมบริหารจัดการส่งออกข้าว เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกข้าวของไทยคิดเป็น 30% ของโลก และหากรวมกับการส่งออกข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้สัดส่วนการส่งออกรวมสูงถึงร้อยละ 50 ทำให้อาเซียนสามารถเป็นผู้กำหนดทิศทางราคาข้าวของโลกได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้แม้ว่าจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่การปฎิบัติยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากเวียดนามเองก็ตั้งเป้าหมายในการส่งออกข้าวโดยแข่งขันกับไทยโดยตรง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอาเซียนใหม่ก็มีนโยบายเร่งขยายปริมาณการผลิตข้าว และมีแนวโน้มจะเป็นคู่แข่งของไทยในอนาคต นอกจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ และอยู่ในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียต่างก็เร่งขยายการปลูกข้าวเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะชะลอการนำเข้าข้าวในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม