Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 สิงหาคม 2553

การค้า

ส่งออกไปสหรัฐฯครึ่งหลังอาจถูกกดดันจากภาวะเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ...GSP ของสหรัฐฯช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2908)

คะแนนเฉลี่ย

สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 9.85 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีผลต่อการส่งออกและภาพรวมการค้าของประเทศไทย โดยในช่วงครึ่งแรกของปีการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 24.7(YoY) ซึ่งต่ำกว่าอัตราขยายตัวของการส่งออกของไทยทั้งหมดที่ขยายตัวร้อยละ 36.6(YoY) นอกจากนี้ในช่วงครึ่งหลังของปีแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่คาดว่าจะเติบโตชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4(Annual rate) เทียบกับอัตราเติบโตร้อยละ 3.7(Annual rate)ในไตรมาสแรก เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จึงอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปีเติบโตช้าลง

ทั้งนี้ประเด็นด้านสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไปจีเอสพี(Generalized System of Preferences: GSP) ของสหรัฐฯน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป GSP ของสหรัฐฯ เป็นการให้สิทธิพิเศษด้านการนำเข้าสินค้ากว่า 5,000 รายการ โดยไม่เสียภาษีสินค้านำเข้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนารวม 174 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐฯได้มากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การทบทวนการใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯประจำปี 2553 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯเนื่องจากมีสินค้าหลายรายการที่สหรัฐฯให้สิทธิ GSP เพิ่มเติม เช่น ถั่วแช่แข็งและผักแช่แข็ง เป็นต้น ทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิได้ลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 11.2 และร้อยละ 14.0 เป็นร้อยละ 0 นอกจากนี้สินค้ากลุ่มอื่นๆที่สหรัฐฯยังคงให้สิทธิ GSP ทำให้การนำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐฯมีอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 ได้แก่ เครื่องประดับเงินของไทยสหรัฐฯยกเว้นเพดานส่งออก(CNL Waiver) รวมทั้งสินค้าไทยที่สหรัฐฯผ่อนผันภายใต้เงื่อนไข De Minimis Waiver ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดหวานแปรรูป มะละกอแปรรูป เครื่องปรุงรสผสม หนังกระบือฟอก และเครื่องเคลือบ เป็นต้น

แต่สำหรับสินค้าไทยที่ถูกตัดสิทธิ/ไม่ได้คืนสิทธิ GSP ทำให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าตามอัตราปกติจากเดิมที่ได้รับสิทธิ GSP เสียภาษีร้อยละ 0 ส่งผลให้อาจต้องแข่งขันสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรเน้นด้านคุณภาพในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ/ไม่ได้คืนสิทธิ GSP โดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP เช่น สินค้ากุ้งปรุงแต่งและยางเรเดียลสำหรับรถยนต์นั่ง ต้องกลับไปเสียภาษีร้อยละ 5 และร้อยละ 4 ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่ไม่ได้คืนสิทธิ GSP ได้แก่ ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่งและทีวีสีจอแบนของไทยค่อนข้างมีศักยภาพ เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าของสหรัฐฯค่อนข้างมาก การตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้แม้ว่าต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าแต่ก็อยู่ในอัตราที่ไม่สูงนักอยู่ที่ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ แต่สำหรับสินค้าธัญพืช เม็ดพลาสติก และกระเบื้องปูพื้น/ผนัง อาจต้องรับมือกับการเสียภาษีที่อยู่ในอัตราค่อนข้างสูงร้อยละ 6.5-12.8 และการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯยังต้องแย่งชิงกับสินค้าส่งออกจากประเทศอื่นๆโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย เช่น เวียดนาม อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า