Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 สิงหาคม 2553

การค้า

ส่งออกเดือน ก.ค. 53 ชะลอเกินคาด … แนวโน้มยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2910)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2553 ชะลอตัวลงแรงกว่าที่คาด โดยการส่งออกมีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 15,565 ล้านดอลลาร์ฯ จากระดับที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 18,038 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิถุนายน หรือคิดเป็นอัตราการหดตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ปรับฤดูกาล) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20.6 (Year-on-Year) จากที่ขยายตัวสูงร้อยละ 46.3 ในเดือนก่อน

สัญญาณดังกล่าวสร้างความกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อแนวโน้มการส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี ท่ามกลางภาวะที่อุปสงค์ในตลาดโลกมีทิศทางที่อ่อนตัวลง หลังจากภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยิ่งปรากฏชัดขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วในระยะนี้ ก็อาจยิ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อ ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2553 นี้ที่ร้อยละ 22.0-27.0 โดยมองว่า แม้เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคมีแนวโน้มที่อาจจะยังคงชะลอตัวต่อไป แต่เศรษฐกิจโลกน่าจะรักษาเส้นทางการฟื้นตัวต่อไปได้โดยไม่ถึงขั้นกลับไปสู่ภาวะถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) โดยการเติบโตของเศรษฐกิจอาจดำเนินไปในจังหวะที่ช้าลง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ เริ่มหมดลง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เริ่มวกกลับมาสู่วัฏจักรขาขึ้น ขณะที่ระดับสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจปรับเพิ่มกลับมาอยู่ในระดับสูงเพียงพอแล้ว ทำให้ผลของการสะสมสต็อกที่มีต่อการเติบโตในภาคการผลิตของโลกในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีบทบาทน้อยลง ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าจึงน่าจะเติบโตไปตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงของเศรษฐกิจแต่ละประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ จากความต้องการในตลาดโลกต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทย รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกของบางอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ซึ่งจะทยอยเริ่มต้นผลิตและส่งออกได้ในเดือนข้างหน้า น่าจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยยังขยายตัว (YoY) เป็นบวกได้

สำหรับประเด็นด้านการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งมีแนวโน้มผ่านระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระยะอันใกล้นี้ คงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ ทั้งในด้านการรักษาสถานะการแข่งขันในตลาด และรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นรูปเงินบาทที่อาจลดลง รวมทั้งอัตรากำไรที่อาจแคบลงหากผู้ประกอบการต้องลดราคาเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า