Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 สิงหาคม 2553

การค้า

ส่งออกไปจีนเดือน ก.ค.:ชะลอความร้อนแรงลง...ฉุดไทยขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น 110.5% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2913)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคม 2553 ส่อแววอ่อนแรงต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่แม้จะใกล้เคียงกับร้อยละ 26.3 ในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับร้อยละ 39.4 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่การนำเข้ายังคงเติบโตสูงที่ระดับร้อยละ 40.1 แต่ก็ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตในเดือนมิถุนายนที่ระดับร้อยละ 62.1 ซึ่งจากการที่อัตราการเติบโตของการนำเข้าสูงกว่าภาคการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าแก่จีนสูงถึง 409.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกรกฎาคม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 110.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วงที่ผ่านมา จีนจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในฐานะตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย และล่าสุดจีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแทนที่สหรัฐฯไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนมักเป็นไปในลักษณะที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ไทยได้เสียดุลการค้าให้กับจีนไปแล้วถึง 1,319.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสูงกว่ายอดขาดดุลการค้าทั้งปี 2552 ที่มีมูลค่า 909.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น หากการขยายตัวของภาคการส่งออกระหว่างไทย-จีนชะลอตัวแรงกว่าการนำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 อาจทำให้ในปี 2553 ไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่าเท่าตัวแน่นอน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2553 ที่ร้อยละ 25-30 ขณะที่ประเมินว่าการนำเข้าน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ยอดขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนในปี 2553 อาจสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปี 2553 ตามกำลังซื้อและความต้องการบริโภคของประชาชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือหากไทยมีการพัฒนาลู่ทางทางการค้าในตลาดมณฑลทางตะวันตกของจีนเพิ่มขึ้น ก็อาจจะมีผลผลักดันให้ช่องว่างการขาดดุลการค้าระหว่างไทยและจีนลดน้อยลงได้

แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเน้นยกระดับการผลิตสินค้าคุณภาพและมาตรฐานสูงให้ได้ดีมากยิ่งๆ ขึ้นด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และรักษาความแตกต่างสินค้าไทยให้เหนือสินค้าจีนแล้ว ยังจะมีผลให้สินค้าไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในตลาดจีนที่นับวันจะมีจำนวนผู้มีรายได้สูงเพิ่มมากขึ้น และต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพสูงขึ้นตามไปด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า