Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 สิงหาคม 2553

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเครื่องจักรไทย ตลาดส่งออกกว่า 140,000 ล้านบาท ... ควรเสริมกลยุทธ์รุกตลาดอินโดจีน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2921)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 49.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) อาจสะท้อนแนวโน้มที่ดีของการส่งออกเครื่องจักรฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 แต่อัตราการขยายตัวอาจชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่อาจสร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ของบางประเทศในภูมิภาคยุโรป และมาตรการของรัฐบาลจีนเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ ประกอบกับปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ยังจะสามารถขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างดีประมาณร้อยละ 10.0-20.0 (YoY) จากในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 53.5 ส่งผลให้ทั้งปี 2553 คาดว่า การส่งออกเครื่องจักรฯ จะมีมูลค่าประมาณ 4,250-4,500 ล้านดอลลาร์ฯ (135,000-142,800 ล้านบาท) หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 28.0-35.0 จากในปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 21.5

โดยปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของไทย คือ เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว ซึ่งเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีพรมแดนติดกันกับไทย (เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า) ยังมีแนวโน้มความต้องการเครื่องจักรฯที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เครื่องจักรฯ ที่ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้างที่เติบโตตามโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และเอกชน ส่วนเครื่องจักรกลการเกษตรและแปรรูปอาหารมีแนวโน้มขยายตัวตามภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ส่วนเครื่องจักรประเภท รีด ตกแต่ง กลึง ตีขึ้นรูปโลหะ และเครื่องมือกล ก็น่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเอสเอ็มอี ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการผลิตไม่สูง เน้นฝีมือในการผลิตและคุณภาพของวัตถุดิบ การปรับ ดัดแปลงและผลิตจำนวนไม่มากให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนของผู้ประกอบการชาวต่างชาติ เช่น จีนและญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้าง การเกษตรและแปรรูปอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการในภูมิภาคอาเซียน จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการส่งออกเครื่องจักรฯในประเทศไทย

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของไทย ภาครัฐควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยอาจใช้มาตรการด้านภาษี การกำหนดมาตรฐาน ความปลอดภัยและอายุการใช้งานเครื่องจักร เพื่อลดการนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อเครื่องจักรที่ผลิตภายในประเทศ ขณะที่การวิจัยและพัฒนาควรมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องจักรฯในระยะยาว ในส่วนของผู้ประกอบการควรปรับปรุงการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น พัฒนาคุณภาพและบริการหลังการขาย รวมทั้งสร้างตราสินค้าของตนเอง นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาจเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ด้วยความยืดหยุ่นในการผลิตทั้งปริมาณ และการใช้งานให้สอดคล้องทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ การออกไปขยายตลาดต่างประเทศกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ออกไปลงทุนยังต่างประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม