Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กันยายน 2553

การค้า

การส่งออกโค้งสุดท้ายปี 2553 ... แม้เผชิญผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง แต่สินค้าบางกลุ่มยังมีปัจจัยหนุนให้ขยายตัว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2934)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นมามีมูลค่า 16,452 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 15,565 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกรกฎาคม โดยมูลค่าที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0 (Seasonally Adjusted Month-on-Month) หลังจากที่เมื่อเดือนกรกฎาคม มูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลลดลงร้อยละ 13.4 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกขยายตัวดีขึ้นในอัตราร้อยละ 23.9 (Year-on-Year) จากที่ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 20.6 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ หากไม่รวมผลของทองคำที่มีการส่งออกลดลงมาก การส่งออกขยายตัวร้อยละ 26.2 (YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 21.9 ในเดือนก่อนหน้า การส่งออกที่ดีขึ้นนี้เป็นผลมาจากการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องของสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร เป็นต้น

ตัวเลขการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2553 ที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เป็นสัญญาณเชิงบวกว่าการส่งออกของไทยยังคงมีแรงส่งให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท ที่อาจฉุดรั้งให้การส่งออกชะลอตัวลงบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้ายของการส่งออกในปีนี้ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเงินบาทที่ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อไปได้อีกนั้น อาจเป็นปัจจัยลบสำคัญที่ทำให้การส่งออกมีทิศทางที่อ่อนแรงลง แต่ขณะเดียวกัน คาดว่าการส่งออกยังคงมีแรงหนุนจากความคืบหน้าของแผนการลงทุนโยกย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเข้ามายังประเทศไทย ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยผลผลิตพืชผลในตลาดโลกที่ตึงตัวน่าจะช่วยลดแรงกดดันในการแข่งขันด้านราคาลง และช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินบาทลงได้บ้าง นอกจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่แข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ น่าจะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 3/2553 น่าจะขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 17-20 (YoY) ก่อนชะลอตัวลงมากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยคาดว่าการส่งออกตลอดทั้งปี 2553 น่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 22.0-27.0 ซึ่งในกรณีที่เศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องและเงินบาทแข็งค่าในจังหวะที่รวดเร็ว การส่งออกในไตรมาสสุดท้ายอาจขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 10 โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่จะเข้ามายังตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับความมั่นใจของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่หากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวรุนแรง ปฏิกิริยาของตลาดอาจเป็นไปในทางผกผันทำให้เงินทุนไหลกลับไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทิศทางที่สนับสนุนให้บาทอ่อนค่าลง นอกจากนี้ยังต้องติดตามท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรการที่อาจนำมาใช้เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท เช่น การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุนหรือนำเงินทุนออกไปยังต่างประเทศ และอาจรวมไปถึงการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า