Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 ตุลาคม 2553

การค้า

FTA สหภาพยุโรป-เกาหลีใต้ … กระตุ้นส่งออก- ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จุดกระแสเร่งจัดทำ FTA ของประเทศคู่ค้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2964)

คะแนนเฉลี่ย

ด้วยภาวะปัจจุบันที่สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนของค่าเงินที่เป็นปัจจัยลบต่อภาคส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในปีนี้ ขณะที่สหภาพยุโรปเองยังมีปัญหาการขยายตัวได้อย่างเชื่องช้าเนื่องจากปัญหารุมเร้าด้านฐานะการคลังที่ย่ำแย่และอัตราการว่างงานในระดับสูง รวมถึงปัญหาท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในปี 2554 การจัดทำ FTA สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2554 จึงถือเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผ่านแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกได้บ้าง เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 2 ของเกาหลีใต้รองจากจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้ ขณะที่เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของสหภาพยุโรป และอาจเป็นการขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาคบริการของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่คาดว่าจะขยายธุรกิจบริการในเกาหลีใต้ได้มากขึ้น

โดยทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หากความตกลง FTA สหภาพยุโรป-เกาหลีใต้มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2554 อาจทำให้สินค้าส่งออกไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นในตลาดเกาหลีใต้กับสินค้าของสหภาพยุโรปในระยะต่อไป เช่น เครื่องปรับอากาศที่จะยกเลิกภาษีใน 7 ปี แม้ว่าผลกระทบโดยรวมอาจไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าหลักๆ ที่เกาหลีใต้ลดภาษีให้ทันทีกับสินค้าส่งออกของสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มส่วนประกอบ/ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน หากไทยสามารถเจรจา FTA ให้สหภาพยุโรปเปิดตลาดตามท่าทีไทยได้ในอนาคต (ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ภายในประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป) คาดว่าจะทำให้สินค้าส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปขยายตัวดีขึ้นและแข่งขันกับสินค้าเกาหลีใต้ได้มากขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า แต่ทั้งนี้ ธุรกิจไทยอาจต้องแข่งขันกับการเข้ามาของสินค้าและธุรกิจบริการของสหภาพยุโรปมากขึ้นเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า