Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ตุลาคม 2553

การค้า

ส่งออกไทยยังเติบโต ... สะท้อนการปรับตัวเฉพาะหน้าของผู้ประกอบการ แต่แนวโน้มส่งออกในมูลค่าบาทมีโอกาสติดลบในบางช่วง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2966)

คะแนนเฉลี่ย

แม้เผชิญแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2553 ยังคงสร้างสถิติมูลค่ารายเดือนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ ที่ระดับ 18,062 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 14.3 ทิศทางดังกล่าว ในด้านหนึ่งสะท้อนสัญญาณที่ดีว่าผู้ประกอบการส่งออกของไทยสามารถปรับตัวในเชิงรุกเพื่อขยายตลาดส่งออก ท่ามกลางความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ลดลงทั้งในด้านต้นทุนการผลิตและส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคหลายประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าหรือมีการเคลื่อนไหวของค่าเงินในทิศทางที่แข็งค่าน้อยกว่าไทย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกในช่วงเดือนต่อๆ ไป ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่จะรับประกันว่าการส่งออกจะสามารถรักษาสถานะเช่นนี้เอาไว้ได้ตลอดช่วงเดือนข้างหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะที่คำสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตเดิมเริ่มหมดลง ซึ่งการรับคำสั่งซื้อใหม่จะเผชิญปัญหาในการกำหนดราคามากขึ้น โดยหากปรับราคาขึ้นก็อาจสูญเสียลูกค้าไป แต่หากคงราคาเดิมไว้ก็ไม่อาจแบกรับการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนต่อไปได้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวล คือ แม้ว่าการส่งออกในมูลค่าดอลลาร์ฯ จะยังเติบโต แต่สถานการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทที่เป็นอยู่นี้ มีโอกาสกดดันให้อัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยในมูลค่าบาทอาจเริ่มเป็นตัวเลขติดลบในช่วงท้ายของปี 2553 นี้ หรือตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2554 เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เนื่องจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 การส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ อาจขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 6-10 ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ฯ เฉลี่ยในครึ่งแรกของปี 2554 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 13-15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งหมายความว่า หากปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ การส่งออกในมูลค่าบาทมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นอัตราติดลบได้

แนวนโยบายในการป้องกันหรือผ่อนคลายปัญหาดังกล่าว อาจมองได้ในหลายแนวทาง กล่าวคือ

การผลักดันยอดส่งออกในระดับที่เข้มข้นขึ้น เช่น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจใช้แนวทางผลักดันการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อขยายมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ ให้ชดเชยกับแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้น

การใช้มาตรการที่เข้มขึ้นในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของค่าเงินบาทในสภาวการณ์ตลาดเงินโลกที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และอาจเป็นระยะเวลาที่ยาวนานออกไป

การใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ถูกกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจเป็นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น ขณะเดียวกัน ในระยะยาว ภาครัฐอาจจำเป็นต้องวางแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศที่มุ่งไปสู่โครงสร้างการผลิตในระดับที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น หรือมีการวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูง เพื่อลดความอ่อนไหวต่อประเด็นการแข่งขันด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า