Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 พฤศจิกายน 2553

การค้า

แนวโน้มส่งออกปี 2554 … คาดขยายตัว 6-10% แต่มูลค่าบาทอาจหดตัว 1.5-5% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2988)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกเดือนตุลาคม 2553 ชะลอตัวลง โดยมีมูลค่า 17,133 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ชะลอลงจากร้อยละ 21.2 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 1.8 (Seasonally-Adjusted Month-on-Month) จากที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาเฉพาะการส่งออกที่ไม่รวมทองคำในเดือนตุลาคม ขยายตัวร้อยละ 14.0 (YoY) ชะลอลงมากจากอัตราร้อยละ 25.0 ในเดือนก่อน

ทั้งนี้ จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่านี้ จะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2554 มีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ อาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียว อยู่ในช่วงร้อยละ 6-10 จากที่คาดว่าอาจขยายตัวเกือบร้อยละ 27 ในปี 2553 ขณะที่ภายใต้ทิศทางค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในปีข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของการส่งออกในรูปเงินบาทอาจหดตัวประมาณร้อยละ 1.5-5.0 ในปี 2554 จากที่คาดว่าอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 17 ในปี 2553 โดยเป็นผลมาจากการที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ฯ เฉลี่ยทั้งปีอาจแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 11-12 เป็นสำคัญ

สำหรับประเด็นเชิงนโยบาย ภาครัฐอาจมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัวต่อแนวโน้มที่จะมาถึงนี้ อาทิ การผลักดันการขยายการส่งออกในเชิงปริมาณ โดยการส่งเสริมให้ผู้ส่งออกมีขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA นอกจากนี้ ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพน่าจับตามองยังได้แก่ กลุ่มรัสเซียและ CIS และกลุ่มลาตินอเมริกา ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 70 และในกรณีลาตินอเมริกา การที่ความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในต้นปี 2554 นั้น นับเป็นช่องทางสำหรับไทยในการขยายตลาดในลาตินอเมริกาและทวีปอเมริกาเหนือ

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือการยกระดับราคาสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องอาศัยการปรับตัวของผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าของประเทศคู่ค้า ที่มีแนวโน้มใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในรูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้น ทั้งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาล หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ส่งออกรายย่อยที่อาจไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอในการปรับตัวอย่างทันท่วงที ภาครัฐอาจต้องมีการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท เช่น มาตรการทางภาษี การสนับสนุนสภาพคล่อง และการเข้าถึงเครื่องมือในการลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า