Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤศจิกายน 2553

อุตสาหกรรม

จำนวนการผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นฟื้นตัวตามตลาดโลก ... โอกาสไทยรับอานิสงส์ญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตนอกประเทศ(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2994)

คะแนนเฉลี่ย

จำนวนการผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2552 – 2553 และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นอีกในปี 2554 ตามการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์โลก อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยภูมิภาคที่ความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้นมากนั้น ได้แก่ เอเชียและตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับตลาดหลักที่มีมาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็น อเมริกาเหนือหรือยุโรป ในขณะที่ความต้องการจากภายในประเทศญี่ปุ่นเองยังอ่อนแรงและต้องพึ่งพาการกระตุ้นจากรัฐบาลเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคเอเชียก็เป็นแหล่งลงทุนที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรืออาเซียนซึ่งมีไทยเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ส่วนประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอาเซียนในด้านการเป็นฐานรองรับการลงทุนของญี่ปุ่น ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เนื่องจากเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจมากในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังมีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับไทย จึงมีโครงสร้างการผลิตที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต ทำให้เป็นคู่แข่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

ซึ่งการที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มออกไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์นอกประเทศมากขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากความต้องการรถยนต์ในเอเชียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความต้องการภายในประเทศญี่ปุ่นที่อ่อนแรง และปัจจัยจากค่าเงินเยนที่แข็งค่า รวมไปถึงเขตการค้าเสรี AFTA ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยอาศัยจุดแข็งของไทยในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความพร้อม ปัญญามาบตาพุดที่คลี่คลายลงไป ค่าจ้างแรงงานที่ไม่สูงจนเกินไป และความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และการเร่งพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ในโครงการของสถาบันยานยนต์ แต่ในขณะเดียวกัน ไทยมีประเด็นที่ควรเร่งปรับตัว ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะยาว การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อให้พึ่งพาต่างประเทศน้อยลง การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยให้แข่งขันได้ และการเพิ่มจำนวนบุคลากรเฉพาะทางให้มากขึ้น ที่สำคัญ ไทยควรมีการเตรียมพร้อมในการสร้างพื้นฐานศักยภาพทางเทคโนโลยีที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืนในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม