Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 ธันวาคม 2553

การค้า

ASEAN Connectivity: ความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคอาเซียน...โอกาสและความท้าทายของธุรกิจไทย(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3001)

คะแนนเฉลี่ย
การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนหรือ ASEAN Connectivity เป็นเสมือนการก้าวเข้าใกล้ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้น โดยเน้นความเชื่อมโยงครอบคลุมใน 3 มิติ มิติแรกคือ การเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งเน้นความเชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งด้านการคมนาคม การสื่อสารแลกเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเครือข่ายด้านพลังงาน ส่วนความเชื่อมโยงมิติที่สองคือ การเชื่อมโยงองค์กร ซึ่งเน้นความเชื่อมโยงด้านระบบ นโยบาย และกระบวนการทำงานของหน่วยงานแต่ละประเทศ ผ่านความร่วมมือ/ความตกลงในอาเซียน ซึ่งความเชื่อมโยงด้านนี้จะช่วยเอื้อให้ความเชื่อมโยงทางกายภาพสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น สำหรับความเชื่อมโยงในมิติที่สาม คือ การเชื่อมโยงประชาชน เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมและสังคมในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคม ศาสนา รวมถึงภาษา ซึ่งเป็นความท้าทายและต้องอาศัยเวลาพอสมควรในการพัฒนาผสมผสานให้เกิดความเชื่อมโยงด้านประชาชนในอาเซียน
การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนนี้ น่าจะเอื้อให้ไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับประโยชน์จากเครือข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยเฉพาะการคมนาคมทางบกเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน จีน(ตอนใต้) และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าการเชื่อมโยงด้านโครงข่ายการคมนาคมและการเชื่อมโยงด้านระเบียบ/ขั้นตอน กระบวนการ จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าได้คล่องตัว มีความยุ่งยากน้อยลง และอาจทำให้ใช้เวลาในการขนส่งน้อยลง จะอำนวยให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกรวดเร็วและเข้าถึงยิ่งขึ้น จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งจากประเทศในอาเซียนและนอกอาเซียน เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยและภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งยังน่าจะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพด้านการผลิตและส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้การเชื่อมโยงเข้าถึงกันมากขึ้นนี้จะสร้างโอกาสแก่ธุรกิจไทยในหลายๆด้าน ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจไทยที่จะปรับตัวรองรับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยที่อาจเผชิญแรงกดดันในการปรับตัวทั้งในด้านการผลิตทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพ รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสินค้ามากขึ้น เพื่อสร้างจุดยืนในตลาด ขณะที่หน่วยงานภาครัฐควรเร่งวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อลดทอนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเป็นแนวทางในการปรับตัวที่เป็นรูปธรรมต่อธุรกิจไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า